Newstimestory

“เสียงจากทะเล Sea&Sound” เทศกาลดนตรีขนาดเล็กที่รักษ์ทะเลมากที่สุด สร้างความตระหนักเรื่องสิ่งแวดล้อม หวังให้พะยูนกลับคืนสู่ทะเลตรัง

กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ร่วมกับ บริษัท ทริปเปิล เจ คอมมิวนิเคชั่น จำกัด โครงการ “เสียงจากทะเล Sea&Sound” เทศกาลดนตรีรักษ์ทะเล ที่นำดนตรี ศิลปะ วัฒนธรรม และพลังเยาวชน มาผสานกันเพื่อสร้างความตระหนักรู้เรื่องสิ่งแวดล้อม พร้อมขับเคลื่อนเศรษฐกิจชุมชนอย่างยั่งยืน โครงการนี้ได้รับทุนสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ขับเคลื่อนโดยทีมงานจากเครือข่ายนักสร้างสรรค์ท้องถิ่น จังหวัดตรัง ซึ่งมุ่งเน้นการใช้ Soft Power ในการเปลี่ยนเสียงของท้องทะเลให้เป็นแรงบันดาลใจสู่การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และเศรษฐกิจฐานราก


พันจ่าโทอนันต์ บุญสำราญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง เปิดเผยว่า งานเทศกาลดนตรี “เสียงจากทะเล Sea&Sound  เป็นมากกว่างานเทศกาลดนตรีธรรมดา แต่คือพลังแห่งความร่วมมือของคนในพื้นที่ ภาคีเครือข่าย และเยาวชนที่ต้องการเปล่งเสียงแห่งความรัก ความหวงแหนและการอนุรักษ์ทะเลตรัง ให้ดังก้องออกไป โครงการนี้เกิดขึ้นจากความตั้งใจในการใช้ “สื่อสร้างสรรค์”เพื่อสร้างคุณค่าและมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับจังหวัดตรัง ผ่านการเชื่อมโยงระหว่างศิลปะ วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม และการท่องเที่ยวอย่างสอดคล้องกับอัตลักษณ์ท้องถิ่น และงานวันนี้ยังได้เรียนรู้เรื่องราวของพะยูน สิ่งแวดล้อม และความงดงามของวัฒนธรรมท้องถิ่น ผ่านกิจกรรม เวิร์กชอปนิทรรศการ และการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในชุมชน

“วันนี้พะยูน อยู่ในภาวะวิกฤติจากการสำรวจพะยูนปีนี้ ที่พบที่นี่ไม่ถึง 20 ตัว สาเหตุที่ทำให้จำนวนประชากรลดลงคือสภาพสิ่งแวดล้อมทั้งจากธรรมชาติ และจากมนุษย์ ทำให้พะยูนต้องอพยพไปหาบ้านหลังใหม่  ที่มีน้ำอาหารสมบูรณ์มากขึ้น ทางตอนเหนือของทะเลอันดามัน ดังนั้นสิ่งที่คนตรังต้องมาทบทวน คือความพยายามที่ไม่มากพอที่จะพาพะยูนกลับบ้านได้  ทั้ง ๆ ที่ พะยูนเป็นหัวใจและสัญลักษณ์ของเมืองตรัง ดังนั้น 4 ภาคใหญ่ คือหน่วยงานราชการภาครัฐ ภาคเอกชน ชุมชน และเยาวชนจะต้องมาร่วมมือ จับมือกันให้แน่นเพื่อแก้ปัญหานี้ ก่อนที่เราจะไม่ได้เห็นพะยูนตัวจริงอีกเลย พันจ่าโทอนันต์ กล่าว”

ด้าน ดร.สวิตตา นาคะนคร ประธานที่ปรึกษาโครงการ “เสียงจากทะเล Sea&Sound” เปิดเผยว่า เมืองตรังเป็นเมืองที่มีเสน่ห์ มี “Soft Power”หลายด้านทั้งอาหาร ศิลปะ ธรรมชาติท้องทะเล และพะยูน ดังนั้นการนำ Soft Power ต่างๆ รวมทั้งการสร้างเครือข่ายชุมชนที่เข้มแข็งให้มาร่วมอนุรักษ์พะยูน พร้อมส่งเสริมการท่องเที่ยว ด้วยการจัดงาน เสียงจากทะเล Sea&Sound  จึงเป็นก้าวแรก จุดเริ่มต้นที่สำคัญ เพื่อให้ทุกคนได้หันมาเห็นความสำคัญ ทั้งในเรื่องของการอนุรักษ์ และการสร้างความรู้ความเข้าใจกับทุกภาคส่วน โดยเฉพาะชาวบ้าน ให้ช่วยกันดูแลธรรมชาติ และการอนุรักษ์พะยูนไม่ให้สูญหายไปเพื่อให้เมืองตรังเป็นเมืองหลวงของพะยูนตามเดิม โดยงาน“เสียงจากทะเล Sea&Sound”ได้มีกิจกรรมที่หลากหลาย อาทิ

• Music Mockumentary กับบทเพลงที่ถ่ายทอดมุมมองของพะยูน ชุมชน และทะเล


• เทศกาลดนตรีริมทะเล ที่จะกลายเป็นเวทีของศิลปินท้องถิ่นและศิลปินระดับชาติ


• นิทรรศการภาพถ่ายและงานศิลปะจากขยะทะเล

• กิจกรรมเวิร์กชอปสร้างสรรค์ ที่เชื่อมโยงชุมชนกับนักท่องเที่ยว


ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นการใช้ Soft Power ที่หยั่งรากมาจากวัฒนธรรมท้องถิ่นอย่างแท้จริง ที่สำคัญโครงการ “เสียงจากทะเล Sea&Sound” ได้รับทุนสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ประจำปี 2567 ประเภทเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Grant) ประเด็นการสร้างมูลค่าจากประเด็นเชิงวัฒนธรรม (Soft Power) และเกิดขึ้นได้จากความร่วมมือของคนในพื้นที่ จังหวัดตรัง รวมถึงภาคส่วนต่าง ๆ ที่เชื่อว่าการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ และการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน สามารถเดินไปพร้อมกันได้

ด้านนายสามารถ ครุฑเกิด หัวหน้าโครงการ“เสียงจากทะเล Sea&Sound” กล่าวว่า ในโครงการนี้มีการทำเพลงมาทั้งหมด 3 เพลง เพื่อเชิญชวนคนหันมาเห็นความสำคัญของพื้นที่การอนุรักษ์ธรรมชาติสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะเรื่องของพะยูนที่ทำให้คนที่นี่มีความสมบูรณ์มากขึ้น โดยต้องการให้เกิดความยั่งยืนเรื่องของการฟื้นฟูธรรมชาติ เพราะทำให้สิ่งมีชีวิตต่างๆไม่เพียงแต่พะยูนเท่านั้นที่จะดำรงอยู่ได้ สัตว์น้ำต่าง ๆ ก็จะมีชีวิตที่ดีขึ้นด้วย สุดท้ายก็ส่งผลดีกับมนุษย์ที่ทำให้ระบบนิเวศกลับมาสมบูรณ์

โดยเพลงแรก คือพะยูนแก้วตาอันดามัน   เพลงสอง ฟังดังๆเที่ยวตรังสุขจัง และเพลงสาม เล่เล้ ซึ่งเป็นบอกกล่าวถึงความสุขในการท่องเที่ยว การออกทะเล ความอุดมสมบูรณ์ของท้องทะเล และเล่าให้เห็นถึงเห็นความน่ารักของพะยูนโดย คนที่นี้ยังคิดถึงและคาดหวังวันที่พะยูนกลับมาเป็นหนึ่งในสมาชิกของครอบครัวคนตรัง ซึ่งโครงการ “เสียงจากทะเล Sea&Sound” จึงเป็นเทศกาลดนตรีรักษ์ทะเล ที่นำดนตรี ศิลปะ วัฒนธรรม และพลังเยาวชน มาผสานกันเพื่อสร้างความตระหนักรู้เรื่องสิ่งแวดล้อม พร้อมขับเคลื่อนเศรษฐกิจชุมชนอย่างยั่งยืน พร้อมเตรียมต่อยอดดำเนินการในปีหน้า เพื่อให้เป็นเทศกาลดนตรีรักษ์ทะเล ที่สร้างความยั่งยืนให้กับชุมชนต่อไป 

ทั้งนี้ภายในงาน ยังมี Mini Concert รักษ์ทะเล จากศิลปินชื่อดังระดับประเทศ เช่น บี-คิง, วงกัวลาบารา, ตุด นาคอน และศิลปินท้องถิ่น  ,การแสดง 3D Mapping ฉายแสง-เสียงบนทิวสนชายหาด ถ่ายทอด “ตำนานดุหยง” ในมุมมองของเด็กเกาะลิบง,นิทรรศการ & เวิร์กช็อป งานศิลปะจากขยะทะเล ผ้าปาเต๊ะย้อมโคลน แกะสลักไม้เทพทาโร พะยูนไหมพรม กิจกรรมครอบครัว 

และยังมีเวทีเสวนาใหญ่ ว่าด้วยเรื่อง “Soft Power ตรัง” และ “การท่องเที่ยวยั่งยืน” รวมไปถึงกิจกรรม “อาสาเก็บขยะรักษ์ทะเล” โดยเยาวชนในเครือข่ายและผู้สนใจทั่วไป ณ หาดราชมงคล จังหวัดตรัง ทั้งนี้สามารถติดตามรายละเอียด และความคืบหน้าได้ที่ FB เพจ Sea&Sound เสียงจากทะเล

ใหม่กว่า เก่ากว่า