วันที่ 16 มีนาคม 2568 ดร.อาทิตย์ ศุขเกษม รองอธิบดีกรมพัฒนาที่ดินด้านวิชาการ ในฐานะโฆษกกรมพัฒนาที่ดิน พร้อมด้วยนายสมบูรณ์ ธิจันทร์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 6 นายฆนนาท ภู่กรรณ์ เลขานุการกรม ดร.ธนากร นาเชียงใต้ ผู้อำนวยการสำนักวิศวกรรมเพื่อการพัฒนาที่ดิน นายนิลภัทร คงพ่วง ผู้อำนวยการสถานีพัฒนาที่ดินเชียงใหม่ ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ในสังกัดฯ ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานโครงการป้องกันการชะล้างพังทลายของดินและฟื้นฟูพื้นที่เกษตรกรรม ด้วยระบบอนุรักษ์ดินและน้ำ ลุ่มน้ำห้วยแม่ละงองน้อย ลุ่มน้ำแม่งัดฝั่งตะวันออก ลุ่มน้ำสาขาน้ำแม่งัด ลุ่มน้ำหลักแม่น้ำปิง ตำบลเขื่อนผาก อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ พื้นที่ต้นแบบที่ประสบความสำเร็จในแก้ปัญหาชะล้างพังทลายของดินด้วยระบบอนุรักษ์ดินและน้ำและพัฒนาฟื้นฟูพื้นที่เกษตรกรรมด้วยการบริหารจัดการน้ำ โครงการป้องกันการชะล้างพังทลายของดินฯ ช่วยป้องกันผลกระทบจากตะกอนดินต่อคุณภาพและปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำ ลดปัญหาการขาดแคลนน้ำ โดยมีผู้นำท้องที่/ท้องถิ่นและเกษตรกร ร่วมให้การต้อนรับ
“กรมพัฒนาที่ดินมีภารกิจสำคัญเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาทรัพยากรดินด้วยการพัฒนาที่ดินและอนุรักษ์ดินและน้ำ โดยเร่งรัดแผนงานให้สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ 20 ปี (พ.ศ. 2561- 2580) ที่ได้กำหนดเป้าหมายลดการชะล้างพังทลายของดินทั่วประเทศ ไม่น้อยกว่า 20 ล้านไร่ ภายใน 20 ปี (พ.ศ. 2561 - 2580) หรือประมาณ 1 ล้านไร่/ปี ซึ่งปัจจุบันหลายพื้นที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก เกษตรกรสามารถใช้ประโยชน์ที่ดินได้คุ้มค่ามากขึ้น ลดการสูญเสียหน้าดินที่เป็นประโยชน์ต่อการผลิตภาคการเกษตร และเก็บรักษาความชุ่มชื้นให้กับดินได้เป็นอย่างดี อีกทั้งเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำในภาคการเกษตร ซึ่งทั้งหมดนี้ส่งผลให้เกษตรกรสามารถใช้ประโยชน์ที่ดินได้อย่างเหมาะสมตรงตามศักยภาพของพื้นที่ และยังช่วยเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร และเพิ่มรายได้ในครัวเรือนให้กับเกษตรกรอีกด้วย จากผลสำเร็จของโครงการนี้ จะนำไปเป็นโมเดลต้นแบบการแก้ปัญหาการ ชะล้างพังทลายของดินในพื้นที่เกษตรกรรมทั่วประเทศในอนาคต”
สำหรับขั้นตอนในการดำเนินโครงการป้องกันการชะล้างพังทะลายของดินที่ พร้าวเชียงใหม่โมเดลฯ โดยสำนักวิศวกรรมเพื่อการพัฒนาที่ดินได้เข้ามาสำรวจวิเคราะห์สภาพปัญหาทางกายภาพและชีวภาพของพื้นที่ และทำการออกแบบงานจัดระบบอนุรักษ์ดินและน้ำ โดยแบ่งพื้นที่ออกเป็น 3 ส่วน คือ 1.พื้นที่ต้นน้ำ ทำบ่อดักตะกอนดิน ปรับพื้นที่ทำขั้นบันไดดินแบบต่อเนื่อง แถบหญ้าแฝก เพื่อลดปัญหาการชะล้าง 2.พื้นที่กลางน้ำ ทำการไถพรวนตามแนวระดับ ทำทางลำเลียง และขุดลอกลำห้วย และ 3.พื้นที่ปลายน้ำ ปรับรูปแปลงนา ให้เป็นผืนใหญ่และราบเรียบ รวมถึงระบบส่งน้ำด้วยโซล่าเซลล์ ภายหลังดำเนินการแล้วเสร็จ สามารถใช้ประโยชน์พื้นที่ไม่น้อยกว่า 5,000 ไร่
#กรมพัฒนาที่ดิน
#ทีมโฆษกกรมพัฒนาที่ดิน
#อนุรักษ์ดินและน้ำ