นายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำที่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ และวิถีชีวิตของเกษตรกรชาวประมง ตลอดจนประชาชน ในห้วงเวลาที่ผ่านมานั้น กรมประมงได้ดำเนินการแก้ไขปัญหามาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่รัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีผู้กำกับดูแลของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มีการกำหนดเป็นวาระแห่งชาติ และได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำขึ้น โดยได้ออก 7 มาตรการสำคัญ ดังนี้ 1.การควบคุมและกำจัดปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำทุกแห่งที่พบการแพร่ระบาด 2.การกำจัดปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำธรรมชาติ โดยการปล่อยปลาผู้ล่าอย่างต่อเนื่อง 3.การนำปลาหมอคางดำที่กำจัดออกจากระบบนิเวศไปใช้ประโยชน์ 4.การสำรวจและเฝ้าระวังการแพร่กระจายของประชากรปลาหมอคางดำในพื้นที่กันชน 5.สร้างความรู้ ความตระหนัก และการมีส่วนร่วมในการกำจัดปลาหมอคางดำ 6.การพัฒนางานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ และ 7.การฟื้นฟูระบบนิเวศ นอกจากนี้ ยังมีการแต่งตั้งคณะทำงานพิจารณาการกำหนดเครื่องมือที่ใช้ทำการประมง เพื่อกำจัดปลาหมอคางดำขึ้น เพื่ออำนวยความสะดวกและเพิ่มความรวดเร็วในการขอใช้เครื่องมือของประมงพื้นบ้าน ตลอดจนระดมสรรพกำลังทั้งภาครัฐและเอกชน ตลอดจนภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการกำจัดปลาหมอคางดำออกจากแหล่งน้ำ
ต่อมา ภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี นางสาวแพทองธาร ชินวัตร และการกำกับดูแลของ นายอัครา พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ ได้มุ่งเน้นการกำจัดปลาหมอคางดำออกจากแหล่งน้ำธรรมชาติและบ่อเพาะเลี้ยงของเกษตรกร ผ่านโครงการต่าง ๆ ตามวาระแห่งชาติ อาทิ โครงการผลิตน้ำหมักชีวภาพเพื่อเกษตรกรชาวสวนยาง โดยการเปิดจุดรับซื้อปลาหมอคางดำจากเกษตรกรชาวประมง และประชาชน เพื่อนำปลาหมอคางดำไปผลิตน้ำหมักชีวภาพ แจกจ่ายให้กับชาวสวนยาง และยังมีการรณรงค์กิจกรรมต่าง ๆ อาทิ การลงแขกลงคลอง ภายใต้ความร่วมมือของภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน อย่างสม่ำเสมอในทุกพื้นที่การแพร่ระบาด จนถึงปัจจุบันสามารถกำจัดปลาหมอคางดำออกจากระบบนิเวศไปแล้วกว่า 35,000 ตัน ซึ่งการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้สามารถควบคุมพื้นที่การแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ และลดความชุกชุมในพื้นที่การแพร่ระบาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ที่สำคัญในห้วงเวลาปัจจุบันจากข้อเรียกร้องของกลุ่มเครือข่ายประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของปลาหมอคางดำ 19 จังหวัด ทั้ง 4 ข้อ ดังนี้ 1.ขอให้รัฐบาลตั้งกรรมการอิสระเพื่อสอบสวนหาผู้กระทำผิดกรณีปลาหมอคางดำระบาดในแหล่งน้ำธรรมชาติ 2.ขอให้รัฐบาลกำจัดปลาหมอคางดำให้หมดภายในระยะเวลา 1 ปี และเร่งฟื้นฟูระบบนิเวศให้กลับมาสู่ภาวะปกติโดยเร็ว 3.ขอให้รัฐบาลประกาศเขตภัยพิบัติในพื้นที่ที่พบการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำทันที 4.ขอให้หน่วยงานภาครัฐดำเนินการฟ้องร้องดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดเพื่อมาชดเชยเยียวยากับผู้ได้รับผลกระทบ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมประมงมิได้นิ่งนอนใจในความเดือดร้อนของกลุ่มผู้ชุมนุม ได้มีการดำเนินการไปแล้ว ดังนี้
ข้อเรียกร้องที่ 2 กรมประมงได้ดำเนินการขอใช้งบประมาณจำนวน 200 ล้านบาท จากสำนักงบประมาณ ซึ่งอยู่ภายใต้กรอบวงเงิน 450 ล้านบาท ที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติเพื่อนำมาแก้ไขปลาหมอคางดำ ซึ่งเป็นวาระแห่งชาติแล้ว และขณะนี้ นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้ สำนักงบประมาณจัดสรรงบประมาณ 98,457,100 ล้านบาท ให้กรมประมงอย่างเร่งด่วน เพื่อใช้ในส่วนของมาตรการที่ 1 การควบคุมและกำจัดปลาหมอคางดำออกจากแหล่งน้ำ ผ่านกิจกรรมการรับซื้อปลาหมอคางดำและกิจกรรมสนับสนุนปัจจัยในการกำจัดปลาหมอคางดำในพื้นที่เพาะเลี้ยง และมาตรการที่ 3 การนำปลาหมอคางดำที่กำจัดออกไปใช้ประโยชน์ ผ่านกิจกรรมผลิตน้ำหมักชีวภาพ ซึ่งคาดการณ์ได้ว่าจะสามารถควบคุมและกำจัดปลาหมอคางดำได้ในกรอบเวลาที่กำหนด