Newstimestory

กรมชลฯ บริหารจัดการน้ำอย่างเต็มศักยภาพ ยันแล้งนี้มีน้ำกินน้ำใช้เพียงพอ

วันนี้ (13 ม.ค. 68) ที่ห้องประชุมศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ (swoc) อาคาร 99 ปี หม่อมหลวงชูชาติ กำภู กรมชลประทาน ถนนสามเสน นายปกรณ์ สุตสุนทร ผู้เชี่ยวชาญด้านที่ปรึกษาอุทกวิทยา กรมชลประทาน เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ ผ่านระบบ Video Conference ไปยังสำนักงานชลประทานที่ 1-17 และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมีผู้เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม เพื่อติดตามและวิเคราะห์สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำ แหล่งน้ำ และแม่น้ำสายหลักต่างๆ สำหรับเป็นข้อมูลในการบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องและเหมาะสมในแต่ละพื้นที่ต่อไป

สำหรับสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำทั่วประเทศ ปัจจุบัน(13 ม.ค. 68) อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 58,847 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 77 ของความจุอ่างฯรวมกัน มีน้ำใช้การได้ประมาณ 34,906 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะ 4 เขื่อนหลัก แหล่งน้ำต้นทุนของลุ่มน้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้น 19,489 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 78 ของความจุอ่างฯ รวมกัน มีน้ำใช้การได้รวมกันประมาณ 12,793 ล้าน ลบ.ม. 

ทั้งนี้ ในช่วงระหว่างวันที่ 11-21 มกราคม 2568 ต้องเฝ้าระวังน้ำทะเลหนุนสูง ที่อาจจะส่งผลให้ระดับในแม่น้ำเพิ่มสูงขึ้นและอาจไหลเข้าท่วมบริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำท่าจีน และแม่น้ำแม่กลอง รวมถึงชุมชนนอกแนวคันกั้นน้ำ และแนวเขื่อนชั่วคราวบริเวณที่ไม่มีแนวป้องกันน้ำถาวร(แนวฟันหลอ) นอกจากนี้ ยังต้องเฝ้าระวังน้ำเค็มรุกล้ำ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อคุณภาพน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค และการเกษตร โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดสมุทรปราการ กรุงเทพมหานคร สมุทรสาคร นครปฐม และสมุทรสงคราม 

อนึ่ง กรมชลประทาน ได้เน้นย้ำให้ทุกโครงการชลประทานปฏิบัติตาม 8 มาตรการรับมือฤดูแล้งปี 2567/68 ที่กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) กำหนดไว้อย่างเคร่งครัด พร้อมจัดเตรียมเครื่องจักร เครื่องมือ รวมไปถึงการกำจัดวัชพืชสิ่งกีดขวางทางน้ำ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ รวมทั้งรักษาระดับน้ำใต้ดินในป่าพรุทางภาคคใต้ให้สมดุล เพื่อป้องกันการเกิดอัคคีภัยในพื้นที่ในช่วงฤดูแล้งนี้  หวังลดผลกระทบที่จะเกิดกับประชาชนให้ได้มากที่สุด ตามนโยบายของ ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

ใหม่กว่า เก่ากว่า