วันนี้ (10 ม.ค.68) นายวิเชียร เหลืองอ่อน ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษานฤบดินทรจินดา เป็นประธานเปิดกิจกรรม CSR “ปลูกป่า สร้างแหล่งน้ำ สมดุลระบบนิเวศ” โดยมีนักเรียน โรงเรียนบ้านชงโคสันติสุขวิทยาคาร ผู้ปกครอง อาจารย์ และตัวแทนกลุ่มผู้ใช้น้ำในพื้นที่ จำนวน 80 คน ร่วมกิจกรรมปลูกต้นไม้บริเวณอ่างเก็บน้ำนฤบดินทรจินดา ต.แก่งดินสอ อ.นาดี จ.ปราจีนบุรี เพื่อฟื้นฟูระบบนิเวศโดยรอบอ่างเก็บน้ำและช่วยเพิ่มพื้นที่ป่าไม้คืนความอุดมสมบูรณ์ให้แก่สิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ ยังเป็นการส่งเสริมให้นักเรียนและปชาชนในพื้นที่เกิดจิตสำนึกในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอีกด้วย
สำหรับกิจกรรมในวันนี้ มีการแบ่งฐานกิจกรรมออกเป็น 3 ฐาน ได้แก่ ฐานแรกได้ให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมช่วยกันปลูกต้นพะยูง และต้นยางนา จำนวน 300 ต้น ที่ได้รับการสนับสนุนจากสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 9 สาขาปราจีนบุรี ซึ่งเป็นการบูรณาการร่วมกันกับกรมชลประทานในการอนุรักษ์และฟื้นฟูธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
ฐานที่ 2 เป็นการรับฟังการบรรยายเกี่ยวกับเกษตรทฤษฎีใหม่ตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ซึ่งเป็นแนวทางหลักในการบริหารจัดการที่ดินและน้ำ เพื่อการเกษตรในที่ดินขนาดเล็กให้เกิดประโยชน์สูงสุดตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง โดยมุ่งเน้นให้ประชาชนในพื้นที่สามารถนำไปปรับใช้ได้อย่างเหมาะสม อันจะนำไปสู่การผลิตที่เกิดรายได้และการพัฒนาเกษตรที่ยั่งยืน
และฐานที่ 3 การรับฟังการบรรยายแปลงสาธิตปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง ซึ่งเป็นการผสมผสานการอนุรักษ์และฟื้นฟูธรรมชาติป่าไม้ ควบคู่ไปกับความต้องการทางเศรษฐกิจและสังคม ช่วยให้ประชาชนในพื้นที่ได้ตระหนักและเห็นคุณค่าจากการเพิ่มพื้นที่ป่าและใช้ประโยชน์จากป่าไม้ที่ปลูก อีกทั้งยังช่วยส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชนในการดูแลรักษาป่า ขณะเดียวกันการปลูกป่ายังเป็นการช่วยอนุรักษ์ดินและน้ำไปพร้อมกันอีกด้วย
ทั้งนี้ จากการติดตามตรวจสอบผลกระทบด้านสัตว์ป่าในปี 2567 ที่ผ่านมา พบว่ามีสัตว์ป่าโดยเฉพาะช้างป่า กระทิง และสัตว์ที่สำคัญชนิดอื่นๆ รวมถึงสัตว์ป่าหายากอีกหลายชนิด ได้เข้ามาใช้ประโยชน์ในพื้นที่ป่าโดยรอบอ่างเก็บน้ำฯ มากขึ้น แสดงให้เห็นว่าแหล่งน้ำ แหล่งอาหารและป่าไม้มีความอุมสมบูรณ์เพิ่มมากขึ้น เป็นสิ่งที่สะท้อนความสำเร็จในการพัฒนาโครงการอ่างเก็บน้ำนฤบดินทรจินดาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ที่ได้ดำเนินการพัฒนาโครงการควบคู่ไปกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในพื้นที่ได้เป็นอย่างดี
ปัจจุบันโครงการอ่างเก็บน้ำนฤบดินทรจินดาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ นับว่าเป็นหนึ่งในอ่างเก็บน้ำที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในจังหวัดปราจีนบุรี สามารถขยายพื้นที่ชลประทานได้มากถึง 111,300 ไร่ คลอบคลุมพื้นที่ 37 หมู่บ้าน (5 หมู่บ้านในอำเภอนาดี และ 32 หมู่บ้านในอำเภอกบินทร์บุรี) ซึ่งนอกเหนือจากการพัฒนาโครงการดังกล่าว กรมชลประทานยังได้สนับสนุนอาชีพให้แก่ประชาชนบริเวณรอบๆอ่างเก็บน้ำฯ ตลอดจนร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาและส่งเสริมด้านการเกษตรแบบบูรณาการ มีการปรับเปลี่ยนการปลูกพืชเศรษฐกิจตามความต้องการของเกษตรกร พร้อมส่งเสริมการทำประมง เพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับประชาชน ควบคู่ไปกับการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้เกิดความสมบูรณ์อย่างยั่งยืนสืบไป
ด.ช.นันทวัฒน์ วิทยะ นักเรียนชั้น ป.4 โรงเรียนบ้านชงโคสันติสุขวิทยาคาร เล่าว่า วันนี้ได้มาร่วมกิจกรรมปลูกป่าที่อ่างเก็บน้ำฯ และเยี่ยมชมแปลงเรียนรู้เกษตรทฤษฎีใหม่ ซึ่งช่วยให้เกิดการเรียนรู้ และสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวัน รวมทั้งการปลูกป่าช่วยฟื้นฟูป่าให้กลับมามีชีวิตอยู่ต่อ และจะไปบอกต่อกับเพื่อนๆ และครอบครัว ให้ช่วยกันปลูกป่า อนุรักษ์ดินและน้ำให้มีความอุดมสมบูรณ์ ได้มีน้ำกินน้ำใช้ตลอดไป
ขณะที่ นางอัมพร พันเรือง เกษตรกรกลุ่มผู้ใช้น้ำ ม.3 บ้านวังอ้ายป่อง ต.แก่งดินสอ อ.นาดี จ.ปราจีนบุรี เล่าว่า เมื่อก่อนยังไม่มีอ่างเก็บน้ำฯ ส่วนใหญ่จะอาศัยน้ำธรรมชาติ ทำนา ปลูกมันสำปะหลัง ในช่วงฤดูฝน ถ้าฝนตกก็จะมีน้ำใช้ ถ้าฝนไม่ตกก็จะเข้าสู่ภาวะ แห้งแล้ง แต่หากฝนตกมากเกินไป น้ำก็จะท่วม ทำให้พืชผลทางการเกษตรเสียหาย แต่จากมีการสร้างอ่างเก็บน้ำฯ ช่วยสร้างประโยชน์หลายอย่าง ช่วงหน้าแล้ง ทางชลประทานก็จะปล่อยน้ำมาให้ใช้ ตามความต้องการ หากมีน้ำฝนมาก อ่างเก็บน้ำฯ ก็จะช่วยเก็บกักน้ำ ทำให้ไม่เกิดน้ำท่วม สามารถทำการเกษตรได้ตลอดทั้งปี ซึ่งปัจจุบันเกษตรกรกว่า 70% ได้ปรับเปลี่ยนมาทำสวนผลไม้ เช่น ทุเรียน กล้วย เงาะ ที่สำคัญยังช่วยสร้างอาชีพเสริมด้านการประมงอีกด้วย ส่งผลให้ชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้นอย่างมาก
ทั้งนี้ จากการเข้าร่วมกิจกรรมปลูกป่า เพื่อต้องการช่วยสร้างพื้นที่รอบอ่างเก็บน้ำฯ มีความชุ่มชื้น และมีความร่มเย็น จึงอยากเชิญชวนพี่น้อง ลูกหลาน และประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่รอบอ่างเก็บน้ำฯ ร่วมกันปลูกต้นไม้ รักษาป่า ไม่ตัดไม้ทำลายป่า หรือใช้ประโยชน์พื้นที่หัวไร่ปลายนา ปลูกพืชที่กินได้หรือใช้ประโยชน์ได้ เพื่อสร้างความชุ่มชื้น ให้พื้นที่มีความอุดมสมบูรณ์อย่างยั่งยืน