Newstimestory

มกอช. ประชุมเข้ม เจรจาจัดทำบท SPS ภายใต้ FTA THAI-EU รอบที่ 4 เน้นเป้าหมายการอำนวยความสะดวกทางการค้าสินค้าเกษตรระหว่างกัน

นายสัตวแพทย์ ชัยวัฒน์ โยธคล เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) เปิดเผยว่าการเจรจาจัดทำบทมาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช (SPS) ภายใต้ความตกลงการค้าเสรีไทย-สหภาพยุโรป (FTA THAI-EU) เป็นเรื่องสำคัญ เน้นเพิ่มการอำนวยความสะดวกทางการค้าสินค้าเกษตรและอาหารระหว่างไทยกับ EU ช่วยขยายโอกาสสินค้าของไทยสู่ 27 ประเทศสหภาพยุโรป ซึ่งเป็นไปตามนโยบายสำคัญของรัฐบาล ที่มุ่งผลักดันการใช้ประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรี (FTA) เพื่อขยายการค้าของไทยออกสู่ตลาดโลก


การเจรจาจัดทำบท SPS ภายใต้ FTA THAI-EU ในครั้งนี้ เป็นการประชุมต่อเนื่องเป็นรอบที่ 4 ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 27-29 พฤศจิกายน 2567 นำโดยหัวหน้าคณะเจรจาบท SPS ฝ่ายไทย นางสาวรวินันท์ ฉ่ำเฉลิม ผู้อำนวยการกองนโยบายและมาตรฐานสินค้าเกษตร และนายปราการ วีรกุล ที่ปรึกษาฯ พร้อมด้วยผู้แทน มกอช. เข้าร่วมเจรจากับหัวหน้าคณะเจรจาฝ่ายสหภาพยุโรป นำโดย Dr.Sylvie Coulon ผู้แทนคณะกรรมาธิการยุโรปด้านอาหารปลอดภัยและผู้บริโภค (DG Santé) ร่วมกับ Mr. Francesco Tristante ผู้แทนคณะกรรมาธิการด้านการค้า (DG Trade) ณ โรงแรม ดิ แอทธินี โฮเทล กรุงเทพมหานคร


การประชุมครั้งนี้ ทั้งสองฝ่ายมีความก้าวหน้าในการเจรจาไปกว่าร้อยละ 60 มีการหารือเข้มข้นในประเด็นสำคัญหลายประเด็น อาทิ การอำนวยความสะดวกทางการค้าสินค้าเกษตร โดยเน้นเพิ่มความโปร่งใสในการแลกเปลี่ยนข้อมูล การแก้ไขปัญทางทางเทคนิค และการเพิ่มประสิทธิภาพในการควบคุม ส่งเสริมให้การตรวจสอบและรับรองการส่งออกนำเข้าสินค้าเกษตรมีความรวดเร็ว ทันสมัย และสอดคล้องตามมาตรฐานสากลยิ่งขึ้น ซึ่งจะช่วยส่งเสริมศักยภาพของสินค้าเกษตรไทย ยกระดับไทยให้ก้าวขึ้นเป็นผู้นำด้านการค้าสินค้าเกษตรในระดับโลกต่อไป

นอกจากนี้ ในช่วงการประชุมเจรจาฯ คณะผู้แทนฝ่ายไทย นำโดย มกอช. พร้อมด้วยผู้แทนจากกรมวิชาการเกษตรและกรมปศุสัตว์ ได้เข้าร่วมประชุมหารือทวิภาคีด้าน SPS และติดตามการเปิดตลาดสินค้าและผลิตภัณฑ์จากพืชและสัตว์ระหว่างไทยและสหภาพยุโรป โดยฝ่ายไทยได้กล่าวขอบคุณสหภาพยุโรปที่ช่วยเร่งกระบวนการตรวจติดตามสถานการณ์โรคกาฬโรคแอฟริกาในม้า ซึ่งเป็นก้าวสำคัญในการแก้ไขปัญหาและทำให้การส่งออกม้ามีชีวิตจากไทยไปยังสหภาพยุโรปกลับมาดำเนินการได้โดยเร็ว พร้อมนี้ ทั้งสองฝ่ายได้หารือในประเด็นสำคัญเพิ่มเติม เช่น การเปิดตลาดสินค้าปศุสัตว์และสินค้าผลไม้สดที่สหภาพยุโรปได้ส่งคำขอเปิดตลาดมายังไทย ทั้งนี้ สหภาพยุโรปได้ให้ความสำคัญกับการค้าสินค้าเกษตรเป็นอย่างมาก และมุ่งหวังที่จะทราบความคืบหน้าจากไทยในการแก้ไขปัญหาด้าน SPS ที่เป็นรูปธรรม ซึ่งจะก่อให้เกิดบรรยากาศที่ดีสำหรับการเจรจาจัดทำ FTA ร่วมกันต่อไป


ใหม่กว่า เก่ากว่า