นายชัยวัฒน์ โยธคล เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) เปิดเผยว่า เป็นที่ทราบกันดีว่า มาตรฐานและความปลอดภัยของสินค้าเกษตรและอาหาร ได้มีการกล่าวถึงและใช้เป็นข้อต่อรองในการเจรจาทางด้านการค้ามาโดยตลอด และยิ่งทวีความสำคัญมากยิ่งขึ้น เมื่อมีการเปิดเสรีทางการค้าภายใต้การเจรจาเขตการค้าเสรีในกรอบต่างๆ เช่น การกำหนดและพิสูจน์มาตรฐานผลิตภัณฑ์ที่ปลอดจากสารเคมีตกค้างที่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภคและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การกำหนดกระบวนการในการจัดการตามสอบสินค้าเพื่อแสดงถึงแหล่งที่มาที่ได้มาตรฐานตามข้อกำหนดระหว่างประเทศ เป็นต้น
ทั้งนี้ ประเทศไทยในฐานะผู้ผลิตและส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารรายใหญ่ของโลก ย่อมต้องได้รับผลกระทบจากเงื่อนไขในด้านมาตรฐานและความปลอดภัยของสินค้าเกษตรและอาหาร ตลอดจนต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบสากลอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งในปัจจุบันผู้บริโภคให้ความสำคัญในเรื่องคุณภาพ มาตรฐาน และความปลอดภัยของสินค้าเกษตรและอาหารเป็นอย่างมาก ผู้ผลิตจึงมีความจำเป็นต้องใช้ระบบตามสอบสินค้าเกษตร (Traceability) ดังนั้น มกอช. ได้ตระหนักถึงความสำคัญดังกล่าว จึงได้จัดทำระบบตามสอบสินค้าเกษตรบนระบบคลาวด์ (QR Trace on Cloud) ที่รองรับการใช้งานสินค้ากลุ่มพืชผัก/ผลไม้ ข้าว ไข่ ประมง ปศุสัตว์ และสินค้าแปรรูป เพื่อให้เกษตรกร กลุ่มเกษตรกร กลุ่มวิสาหกิจชุมชน กลุ่มสหกรณ์ และผู้ประกอบการ ที่ผลิตสินค้าที่ได้การรับรองมาตรฐาน มีการนำระบบไปใช้งาน โดยมีการจัดทำ QR Code รายล็อตสินค้าติดบนบรรจุภัณฑ์สินค้า เพื่อสื่อสารถึงผู้บริโภคให้ทราบถึงแหล่งที่มาของสินค้า ทำให้ผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นในคุณภาพและความปลอดภัยสินค้าเกษตร
นอกจากนี้ มกอช. ยังได้มีการพัฒนาเว็บไซต์สินค้าเกษตรมาตรฐาน-ออนไลน์ (DGTFarm) เพื่อเป็นช่องทางการซื้อขายสินค้าเกษตรปลอดภัยมีคุณภาพ ได้มาตรฐาน ผ่านการรับรอง ในรูปแบบออนไลน์ โดยผู้ขายสามารถจำหน่ายสินค้าเกษตรในตลาดคุณภาพ ได้แก่ ตลาดสินค้าเกษตรอินทรีย์ ตลาดสินค้า GAP และตลาดสินค้า QR Trace และผู้ซื้อสามารถเข้ามาเลือกชมสินค้าเกษตรในตลาดที่สนใจได้ในทันที ทุกที่ ทุกเวลา
“มกอช. ได้ดำเนินการส่งเสริมให้เกษตรกร กลุ่มเกษตรกร กลุ่มวิสาหกิจชุมชน กลุ่มสหกรณ์ และผู้ประกอบการที่ผลิตสินค้าได้มาตรฐานมีการใช้งานระบบตามสอบสินค้าเกษตรบนระบบคลาวด์ (QR Trace on Cloud) และเว็บไซต์สินค้าเกษตรมาตรฐาน - ออนไลน์ (DGTFarm) ซึ่งจะช่วยให้ผู้ผลิตเพิ่มศักยภาพและความโดดเด่นในการผลิตสินค้าเกษตร เป็นการสร้างความเข้มแข็งให้ผู้ประกอบการในภาคการเกษตรและอาหารของไทยให้สามารถแข่งขันทางการค้าและสามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งสอดรับกับนโยบาย ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้ ที่จะช่วยสร้างโอกาส และรายได้ที่ยั่งยืนให้แก่เกษตรกร” เลขาธิการ มกอช. กล่าว