Newstimestory

“รมว.เกษตร” เร่งผลักดันทำข้อเสนอกรอบนโยบายระดับชาติในการปฏิบัติตามกฎ EUDR สินค้าปลอดจากการตัดไม้ทำลายป่า

ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า การประกาศใช้กฎระเบียบว่าด้วยสินค้าที่ปลอดจากการตัดไม้ทำลายป่าของสหภาพยุโรป (EU Deforestation Regulation: EUDR) ของสหภาพยุโรป เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2566 ที่ผ่านมา ได้กำหนดให้การส่งออกและนำเข้าสินค้า 7 กลุ่มของสหภาพยุโรป ได้แก่ ยางพารา ปาล์มน้ำมัน วัว ไม้ กาแฟ โกโก้ และถั่วเหลือง รวมถึงผลิตภัณฑ์แปรรูปจากสินค้าเหล่านี้ เช่น ถุงมือยาง กระดาษ และเฟอร์นิเจอร์ไม้ ต้องผ่านการตรวจสอบและรายงานที่มาของสินค้าว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการตัดไม้ทำลายป่าหรือการทำให้ป่าเสื่อมโทรม ซึ่งส่งผลให้ประเทศไทยในฐานะผู้ผลิต ผู้แปรรูป และส่งออกสินค้า EUDR ที่สำคัญ ต้องเผชิญกับความท้าทายและผลกระทบของการบังคับใช้กฎระเบียบ EUDR อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ 


“หากประเทศไทยมีความพร้อมในทุกมิติได้โดยเร็ว ก็จะนำมาซึ่งโอกาสสำหรับประเทศไทย ในการสร้างความเชื่อมั่นและภาพลักษณ์ที่ดีของสินค้าไทย การขยายการเข้าถึงตลาดระดับพรีเมียมของสหภาพยุโรป การส่งเสริมการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และการปรับปรุงห่วงโซ่อุปทานผ่านเทคโนโลยีที่ทันสมัย ดังนั้น ความสำเร็จในการปฏิบัติตามข้อกำหนด EUDR จะส่งผลให้ประเทศไทยเป็นผู้นำในด้านการผลิตและการค้าสินค้าเกษตรที่ปลอดภัยได้มาตรฐาน อีกทั้งเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และได้รับการยอมรับในระดับโลกอีกด้วยซึ่งจะส่งผลดีต่อการเพิ่มปริมาณการส่งออกสินค้าเกษตรของไทยในอนาคต” รมว.เกษตรและสหกรณ์ กล่าว

ด้านนายสัตวแพทย์ชัยวัฒน์ โยธคล เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารกอช.แห่งชาติ (มกอช.) กล่าวว่า มกอช. ในฐานะหน่วยงานกลางในการจัดทำมาตรฐานและเจรจาแก้ไขปัญหาทางเทคนิคสินค้าเกษตรและอาหารของประเทศไทยได้รับนโยบายจากรัฐบาลโดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มาขับเคลื่อนให้ประสบผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม จึงได้ดำเนินโครงการวิจัย เรื่อง “การศึกษาแนวทางและจัดทำข้อเสนอกรอบนโยบายและแผนปฏิบัติการระดับชาติในการปฏิบัติตามกฎระเบียบว่าด้วยสินค้าที่ปลอดจากการตัดไม้ทำลายป่าของสหภาพยุโรป (EUDR)” โดยได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจากสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) (สวก.) 


ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2567 มกอช. ได้จัดการสัมมนาเพื่อเผยแพร่และสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับกฎระเบียบว่าด้วยสินค้าที่ปลอดจากการตัดไม้ทำลายป่าของสหภาพยุโรป (EUDR) และข้อเสนอกรอบนโยบายระดับชาติในการปฏิบัติตาม EUDR ณ โรงแรมเบสท์เวสเทิร์น นาดาดอนเมือง แอร์พอร์ต และผ่านระบบการประชุมทางไกล โดยมีวิทยากรจากสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กรมป่าไม้ การยางแห่งประเทศไทย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สมาคมยางพาราไทย และองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ประจำประเทศไทย และคณะผู้วิจัยโครงการฯ มาร่วมสรุปผลการศึกษา พร้อมแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ถ่ายทอดประสบการณ์ในการดำเนินการ และร่วมกันอภิปราย “ก้าวต่อไปของประเทศไทยกับการส่งออกสินค้า EUDR” โดยมีเกษตรกร ผู้ผลิต และผู้ส่งออกสินค้า EUDR ไปยังสหภาพยุโรป ผู้แทนจากหน่วยงานและองค์กรภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องสนใจเข้าร่วมรับฟัง 
โครงการวิจัยฯ นี้เป็นการศึกษาวิเคราะห์กฎระเบียบ EUDR ผลกระทบเชิงลึกต่อประเทศไทย รวมทั้งการถอดบทเรียนและมาตรการเพื่อการเตรียมความพร้อมเพื่อปฏิบัติตาม EUDR จากนานาประเทศ และจัดทำข้อเสนอร่างกรอบนโยบายระดับชาติเพื่อการปฏิบัติตามกฎระเบียบ EUDR ของประเทศไทย ซึ่งครอบคลุมกรอบการดำเนินงาน (National Policy Framework) ใน 8 มิติ ได้แก่ การบริหารจัดการภาครัฐ การสร้างพันธมิตรระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน กรอบกฎหมายและนโยบายที่เกี่ยวข้อง งานด้านเทคนิคและการจัดทำระบบเพื่อการปฏิบัติตามการสร้างความร่วมมือและการเจรจากับสหภาพยุโรปและนานาชาติ การสื่อสาร การสร้างความตระหนักและภาพลักษณ์ที่ดีของไทย การสร้างเครือข่ายกับองค์กรที่ไม่ใช่ภาครัฐ และแนวทางการส่งเสริม สนับสนุน และชดเชยเพื่อการปรับตัวให้สอดคล้องตามข้อกำหนดของ EUDR ต่อไป” เลขาธิการ มกอช. กล่าว
ใหม่กว่า เก่ากว่า