Newstimestory

กรมชลฯ กางผลการศึกษา “EHIA” พัฒนาแหล่งน้ำพื้นที่มรดกโลก

กรมชลประทาน กางผลศึกษาการประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ(EHIA) การพัฒนาแหล่งน้ำในพื้นที่“มรดกโลก”ในลุ่มน้ำแม่น้ำปราจีนฯตอนล่าง-ลุ่มน้ำแม่น้ำหนุมาน-ลุ่มน้ำใสน้อย-ใสใหญ่ ย้ำยึดแนวทางพัฒนาที่กระทบพื้นที่มรดกโลกน้อยที่สุด และสามารถแก้ปัญหาอุทกภัย-ภัยแล้งให้ชาวปราจีนได้อย่างยั่งยืน

เมื่อเร็วๆนี้    นายสุรชาติ   มาลาศรี   ผู้อำนวยการสำนักบริหารโครงการ กรมชลประทาน ได้นำคณะสื่อมวลชนลงพื้นที่เพื่อติดตามความก้าวหน้า โครงการที่ต้องทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม สำหรับโครงการกิจการหรือการดำเนินการที่อาจมีผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ คุณภาพสิ่งแวดล้อม สุขภาพอนามัย คุณภาพชีวิตของประชาชนในชุมชนอย่างรุนแรง (EHIA) “โครงการศึกษาแผนการพัฒนาแหล่งน้ำและประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมในลุ่มน้ำใสน้อย-ใส่ใหญ่ จังหวัดปราจีนบุรี” พร้อมชี้แจงความก้าวหน้าโครงการฯให้กับชาวบ้าน จำนวน 3 จุด ประกอบด้วยบริเวณพื้นที่หัวงานโครงการ พื้นที่ที่กำหนดให้เป็นพื้นที่น้ำท่วม บริเวณบ้านสะพานหิน ต.สะพานหิน อ.นาดี จ.ปราจีนบุรี และพื้นที่ที่เป็นที่ตั้งของประตูระบายน้ำแควหนุมาน บริเวณบ้านโนนเกาะลอ ต.นาแขม อ.กบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี  โดยมี ดร.ไชยทัศน์   อิ่มสำราญรัชต์ บริษัท ธารา คอนซัลแตนท์ จำกัด ที่ปรึกษาโครงการฯ ชี้แจงความก้าวหน้าโครงการและแผนดำเนินงาน

นายสุรชาติ มาลาศรี ผู้อำนวยการสำนักบริหารโครงการ กรมชลประทาน กล่าวถึงความเป็นมาของโครงการฯ ว่า เนื่องจากเมื่อปี 2550 กรมชลประทาน ได้ดำเนินโครงการศึกษาทบทวนความเหมาะสมของโครงการอ่างเก็บน้ำใสน้อย-ใสใหญ่ จังหวัดปราจีนบุรี ได้ข้อสรุปว่าโครงการอ่างเก็บน้ำใสน้อย-ใสใหญ่ ได้ถูกกำหนดไว้ในการศึกษาแผนหลักการพัฒนาลุ่มน้ำและการจัดการทรัพยากรน้ำอย่างเป็นระบบไว้แล้ว   แต่เนื่องจากพื้นที่ที่ขออนุญาตตั้งโครงการอยู่ในเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่  ซึ่งปัจจุบันได้รับการประกาศเป็นมรดกโลกพ.ศ.2548 อาจเกิดผลกระทบจากภัยคุกคามต่อพื้นที่แหล่งมรดกโลกทางธรรมชาติที่มีคุณค่าโดดเด่นเป็นสากล ในขณะที่อ่างเก็บน้ำมีขนาดความจุเกิน100ล้านลบ.ม. จึงจัดอยู่ในประเภทและขนาดโครงการที่ต้องจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม สำหรับโครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อขุมขนอย่างรุนแรงทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพ (EHIA)  


สำหรับวัตถุประสงค์ของโครงการฯ เพื่อศึกษาแผนหลักการพัฒนาลุ่มน้ำใสน้อย-ใสใหญ่และการจัดการทรัพยากรน้ำอย่างเป็นระบบและเพื่อศึกษาความเหมาะสมของโครงการที่ให้ประสิทธิผลตามมาตรการการบรรเทาปัญหาการขาดแคลนน้ำและอุทกภัยจากที่กำหนดไว้ในผลการศึกษาแผนการพัฒนาแหล่งน้ำในลุ่มน้ำใสน้อย-ใสใหญ่ และจัดทำรายงานEHIA ที่สอดคล้องและเป็นไปตามข้อกำหนดของกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งเพื่อจัดทำแผนปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม และแผนติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อม(EIMP) ตลอดจนประชาสัมพันธ์และการมีส่วนร่วมของประชาชนและของทุกภาคส่วน


โดยขณะนี้การดำเนินการโครงการมีความก้าวหน้าตามลำดับ   ได้มีการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน โดยมีหน่วยงานราชการทั้งระดับจังหวัด อำเภอ ท้องถิ่น และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่เป้าหมาย 4 อำเภอของจังหวัดปราจีนบุรี ประกอบด้วย อำเภอนาดี อำเภอกบินทร์บุรี อำเภอประจันตคาม และอำเภอศรีมโหสถ ร่วมแสดงความคิดเห็นและกำหนดขอบเขตและแนวทางการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม EHIA ตลอดจนความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างกำหนดมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมในด้านต่างๆ ต่อแนวทางการพัฒนาแหล่งน้ำในลุ่มน้ำแม่น้ำปราจีนบุรีตอนล่าง ลุ่มน้ำแม่น้ำหนุมาน และลุ่มน้ำใสน้อย-ใสใหญ่


ทั้งนี้    หากการดำเนินการแล้วเสร็จโครงการดังกล่าวฯจะช่วยป้องกันและบรรเทาอุทกภัยในช่วงฤดูฝนอันจะทำให้คุณภาพชีวิตของราษฎรในพื้นที่มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น โดยในผลการศึกษาได้มีการเสนอแนะให้ดำเนินโครงการก่อสร้างประตูระบายน้ำในแควหนุมาน บริเวณบ้านโนนเกาะลอ ตำบลนาแขม อำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี ที่มีอัตราการระบายน้ำ (รอบ 100 ปี) 740 ลบ.ม./วินาที พื้นที่หัวงาน 282 ไร่ มีระบบส่งน้ำและพื้นที่รับประโยชน์ ประกอบด้วย สถานีสูบน้ำปัจจุบัน 3 แห่ง และสถานีสูบน้ำพร้อมระบบส่งน้ำใหม่อีก 10 แห่ง และแนวท่อสูบน้ำจากหน้าประตูระบายน้ำในแควหนุมานไปลงบ่อพักน้ำของโครงการท่าแหขยาย เป็นโครงการพัฒนาตามแผนระยะกลาง (พ.ศ. 2571-2575) และโครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำใสน้อยตอนล่าง บริเวณบ้านสะพานหิน ตำบลสะพานหิน อำเภอนาดี จังหวัดปราจีนบุรี พื้นที่รับน้ำลงอ่างเก็บน้ำ 166.33 ตารางกิโลเมตร ปริมาณฝนเฉลี่ยทั้งปี 1,782.91 มิลลิเมตร ปริมาณน้ำไหลลงอ่างเก็บน้ำเฉลี่ยต่อปี 159.52 ล้านลูกบาศก์เมตร พื้นที่หัวงานประมาณ 590.63 ไร่ อาคารหัวงานชนิดเขื่อนดินแบบแบ่งโซนมีความยาวสันเขื่อน 367.00 เมตร เป็นโครงการพัฒนาตามแผนระยะยาว (พ.ศ.2576-2580) เพื่อไปดำเนินการศึกษาขั้นความเหมาะสมของโครงการต่อไป

“สำหรับผลประโยชน์ที่จะได้รับหลังจาก 2 โครงการฯแล้วเสร็จจะมีพื้นที่ได้รับประโยชน์ทั้งหมด 63,186 ไร่ ประกอบด้วย พื้นที่รับประโยชน์ฝั่งขวา 32,257 ไร่ และพื้นที่รับประโยชน์ท่าแหขยาย 30,929 ไร่   ในขณะการศึกษาฯได้ยึดแนวทางการพัฒนาที่มีความเหมาะสมกระทบพื้นที่มรดกโลกน้อยที่สุด ซึ่งกรมชลประทานมีความเชื่อมั่นว่าหากมีการพัฒนาโครงการแล้วจะสามารถแก้ปัญหาขาดแคลนน้ำอุปโภค-บริโภคและบรรเทาอุทกภัยครอบคลุมพื้นที่เขตอำเภอเมืองปราจีนบุรี นาดี กบินทร์บุรี ประจันตคาม และสองฝั่งของแม่น้ำปราจีนบุรีก็จะได้รับประโยชน์จากโครงการฯนี้ด้วย” นายสุชาติ  กล่าวย้ำ



ด้านนายบัณฑิต  ชาดา  ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 1 ต.สะพานหิน  อำเภอนาดี จังหวัดปราจีนบุรี  กล่าวว่า ขณะนี้ชาวบ้านมีความความหวังกับการก่อสร้างโครงการอย่างมาก อยากให้กรมชลประทานเร่งก่อสร้างให้เร็วเพราะปัจจุบันชุมชนสะพานหินมีความเดือดร้อนจากปัญหาขาดแคลนน้ำกินน้ำใช้และการเพาะปลูกอย่างมากทำให้ขาดรายได้ในช่วงหน้าแล้ง  เนื่องจากพื้นที่ตำบลสะพานหิน อ.นาดีซึ่งมีพื้นที่ครอบคลุม 4,090 ไร่   ชาวบ้านส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม อาทิ  ทำนา ทำไร่สำปะหลังและปลูกยางพารา  สมัยก่อนแม้จะเป็นช่วงฤดูแล้งแต่ยังมีความอุดมสมบูรณ์พอสมควร แต่มาระยะหลังพอถึงฤดูร้อนจะประสบปัญหาแห้งแล้งหนัก  ตามคูคลองน้ำแห้งเหือดจนไม่สามารถทำการเกษตรได้ ถ้าหากโครงการแล้วเสร็จเชื่อมั่นว่าจะช่วยบรรเทาปัญหาความเดือนร้อนของคนในชุมชนได้อย่างมาก ส่วนปัญหาผลกระทบจากการก่อสร้างโครงการ จากการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นอย่างต่อเนื่อง ทำชาวชุมชนสะพานหินมีความรู้ ความเข้าใจแผนการศึกษาอย่างกว้างขวาง ส่วนใหญ่เห็นด้วยในการก่อสร้างโครงการนี้ เพราะเชื่อมั่นว่าจะช่วยแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำในฤดูแล้ง และทำให้กิน น้ำใช้และการทำเพาะปลูกเพียงพอในระยะยาว
ใหม่กว่า เก่ากว่า