วันนี้ (18 ธ.ค. 67) ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วย นายอิทธิ ศิริลัทธยากร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายอัครา พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และคณะ ลงพื้นที่ไปติดตามสถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำคลองท่าดี บริเวณสถานีโทรมาตรเพื่อการเตือนภัย X.285 คลองนครน้อย (คลองหน้าเมือง) ตำบลคลัง อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช ก่อนจะเดินทางไปมอบถุงยังชีพให้กำลังใจแก่ผู้ประสบภัยน้ำท่วม จำนวน 500 ชุด และมอบหญ้าอาหารสัตว์พระราชทานให้แก่เกษตรกร ที่ศูนย์พักพิงชั่วคราวโรงเรียนวัดศาลามีชัย ตำบลมะม่วงสองต้น อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช โดยมี นายสุริยพล นุชอนงค์ อธิบดีกรมชลประทาน นายวิทยา แก้วมี รองอธิบดีกรมชลประทาน นายก่อพงศ์ เจ้ยแก้ว ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 15 และผู้เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่ในครั้งนี้ด้วย
สำหรับสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราชในช่วงที่ผ่านมา เกิดจากฝนที่ตกหนักในพื้นที่ลุ่มน้ำคลองท่าดี ส่งผลให้เกิดน้ำหลากเข้าท่วมในเขตเทศบาลนครนครศรีธรรมราช และพื้นที่ใกล้เคียง ซึ่งคลองท่าดีเป็นลำน้ำสายหลักที่ไหลผ่านตัวเมืองนครศรีธรรมราชก่อนลงสู่ทะเล มีคลองสาขา 5 สาย ได้แก่ คลองท่าชัก คลองนครน้อย คลองป่าเหล้า คลองสวนหลวง และคลองคูพาย ทำหน้าที่ในการช่วยระบายน้ำ
ในส่วนของการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ กรมชลประทาน ได้ใช้สถานีโทรมาตรในการเฝ้าระวังและเตือนภัย โดยพื้นที่ต้นน้ำจะใช้ สถานี X.200 ตำบลกำโลน และ X.55 ตำบลท่าดี อำเภอลานสกา เป็นสถานีเฝ้าระวัง ส่วนสถานีที่อยู่กลางน้ำ จะเฝ้าระวังที่สถานี X.203 ตำบลไซยมนตรี และปลายน้ำ จะใช้สถานี X.285 ตำบลคลัง อำเภอเมือง เป็นสถานี่เฝ้าระวังและเตือนภัย ทำให้สามารถแจ้งเตือนประชาชนที่อยู่ในเขตเทศบาลนครนครศรีธรรมราชได้รับทราบสถานการณ์น้ำล่วงหน้าได้ประมาณ 20 ชั่วโมง ก่อนที่น้ำจากต้นน้ำจะไหลลงมาถึง ช่วยบรรเทาและลดความเสียหายที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่ได้เป็นอย่างมากขณะเดียวกันยังได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำและเครื่องผลักดันน้ำตามจุดต่างๆ ตามแผนที่ได้เตรียมการณ์รับมือไว้ล่วงหน้า เพื่อลดผลกระทบที่เกิดขึ้น ส่งผลให้ปัจจุบันภาพรวมสถานการณ์น้ำเริ่มคลี่คลายดีขึ้นตามลำดับ ระดับน้ำในหลายพื้นที่ลดลงใกล้กลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว
สำหรับแนวทางการแก้ไขปัญหาอุทกภัย กรมชลประทาน ได้วางแผนไว้ 2 ระยะ โดยแผนระยะสั้น เป็นกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำในคลองทั้ง 5 สาย ซึ่งได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง พร้อมติดตั้งเครื่องสูบน้ำและเครื่องผลักดันน้ำ เพื่อช่วยเร่งระบายน้ำ ส่วนแผนระยะยาวได้ดำเนินโครงการบรรเทาอุทกภัยเมืองนครศรีธรรมราชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เพื่อบรรเทาอุทกภัยในเขตตัวเมืองนครศรีธรรมราชและพื้นที่ใกล้เคียง ด้วยการเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำที่ไหลผ่านตัวเมืองและการผันน้ำก่อนไหลผ่านเข้าเมือง ช่วยลดปริมาณน้ำไม่ให้เข้าไปท่วมพื้นที่ในเขตชุมชนและเขตเศรษฐกิจ สามารถระบายน้ำได้สูงสุด 750 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที นอกจากนี้ ยังสามารถเก็บกักน้ำไว้ใช้ทำการเกษตรและใช้อุปโภคบริโภคในช่วงฤดูแล้งได้อีกด้วย ปัจจุบันโครงการดังกล่าวอยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้าง มีความคืบหน้าแล้วประมาณ 40% คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2570