วันนี้ (6 พ.ย.67) ดร.ชำนาญ งามมณีอุดม รองผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เป็นปะธานในพิธีเปิด การอบรมเชิงปฎิบัติการ “เล่นเล่าเรื่อง” จัดโดยกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ร่วมกับ สมาคมนักเขียนบทละครโทรทัศน์ เพื่อให้เยาวชนและคนรุ่นใหม่ อายุระหว่าง 18 ถึง 25 ปีปั้นคอนเทนต์ให้โดดเด่นมีความแตกต่าง ด้วยศาสตร์การละคร ด้วยการเรียนรู้ทักษะในการ เล่นละคร การเล่า การสร้างเรื่อง ณ สถาบันวิชาการ NT ซอยงามวงศ์วาน 17 กรุงเทพมหานคร
ดร.ชำนาญ งามมณีอุดม รองผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เปิดเผยว่า โครงการ เล่น เล่า เรื่อง เป็นโครงการที่สมาคมนักเขียนบทละครโทรทัศน์ ร่วมกับกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ในการหาเยาวชน เด็กรุ่นใหม่ อายุไม่เกิน 25 ปี ที่เป็นช้างเผือก ซึ่งโครงการนี้ได้รับความสนใจเป็นจำนวนมาก ซึ่งเป็นโครงการที่คนรุ่นใหม่จะได้มาพบกับครู ซึ่งเป็นนักเขียนบทที่มีผลงาน และประสบการณ์มากมาย ซึ่งผู้เข้าร่วมอบรมก็จะสามารถนำประสบการณ์ที่ได้ และปัญหาที่เห็น รวมไปถึงสถานการณ์รอบตัวมารังสรรค์เป็นผลงาน และสามารถสื่อสารออกไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ ถ่ายทอดที่เป็นประโยชน์ไปสู่สังคม และยังเป็นเวที ในการพัฒนาฝีมือ ต่อยอดไปสู่ความเป็นมืออาชีพ ทำให้สังคมไทยได้นักเขียนบทที่เก่ง นอกจากมุมมองเรื่องความสนุกสนานแล้ว ยังมีการพัฒนาสังคมควบคู่กันไปด้วย
ทั้งนี้ จากการที่กองทุนจัดให้มีการอบรมในรูปแบบนี้ที่ผ่านมา กองทุนยังได้นำบทละครที่เขียนโดยผู้เข้าอบรม พัฒนาเป็นซีรีส์ ผลิตเป้นละครโทรทัศน์ ในโครงการที่ชื่อว่า “Hello Thailand” และได้เผยแพร่ผ่านช่องทางสื่อ ที่เป็นเครือข่ายพันธมิตรของกองทุน ซึ่งในอนาคตจะมีโครงการเช่นนี้เพิ่มมากขึ้น เป็นรวมรวบเรื่องราวอัตลักษณ์แต่ละท้องถิ่น มาพัฒนาต่อยอดกันต่อไป กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ มีหน้าที่ในการพัฒนาศักยภาพผู้ผลิตสื่อ และส่งเสริมการผลิตสื่อที่ปลอดภัยและสร้างสรรค์ ทั้งนักเขียน ผู้กำกับ ไปจนถึงระดับผู้บริหารสื่อ และมีกลไกในการจัดสรรทุน อย่างต่อเนื่องทุกปี เพื่อให้ผู้ที่มีความพร้อม ได้รับการจัดสรรเงินทุน ไปต่อยอดได้ สู่การพัฒนาสังคมที่ยั่งยืน
ด้านนายคฑาหัสต์ บุษปะเกศ นายกสมาคมนักเขียนบทละครโทรทัศน์ และนักเขียนบทละครโทรทัศน์ ระบุว่า โครงการ เล่น เล่า เรื่อง เป็นโครงการที่เราได้ดำเนินการต่อเนื่องจากโครงการก่อนหน้าที่ ซึ่งเป็นระยะถึง 6 ปี ในการสร้างนักเล่าเรื่องรุ่นใหม่เพื่อให้เข้าสู่วงการ ทั้งนี้ทางสมาคมฯ เล็งเห็นถึงการเล่าเรื่อง ที่อยากให้เยาวชนที่เป็นกำลังหลักของชาติ ซึ่งปัจจุบันมีการสื่อสารในแพลตฟอร์มออนไลน์ สามารถทำคอนเทนต์ ของตัวเองได้ ถ้าได้มารู้หลักวิธีการเล่าเรื่องของละครที่ถูกต้อง และสามารถทำสื่อของตัวเองที่ปลอดภัย และสนุกสนาน โดยใช้ศาสตร์ของละครเวที และบทละครโทรทัศน์ ให้การนำมาประยุกต์ใช้ได้ และยังได้เป็นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ที่สำคัญจะมีผลต่อวงการด้วย โดยเฉพาะในช่วงที่อยู่ในภาวะวิกฤตละครไทย จึงต้องการคอนเทนต์ใหม่ ๆ ที่ตอบสนองได้ทุกกลุ่มอายุ ก็จะทำให้คอนเทนต์ไทยไปไกลได้
นายเทินพันธ์ แพนสมบัติ ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมและพัฒนาสื่อสำหรับประชาชน ระบุว่า บทบาทที่สำคัญของกองทุน คือการสร้างคน และสร้างงานไปพร้อมๆ กัน หลักการก็คือเราอยากเห็นวิธีใหม่ ๆ จากกท้องถิ่น และอยากเห็นคนรุ่นใหม่ มีศักยภาพในการเล่าเรื่อง และอยากมีเรื่องเล่าของตัวเอง นำมาแชร์ประสบการณ์แลกเปลี่ยนกัน เรียนรู้ผ่านกระบวนการของการเขียนบทละครโทรทัศน์ ให้เรื่องเล่าเหล่านั้นมีจุดเด่นและเป็นเรื่องที่น่าสนใจ ทั้งนี้ได้มีการทำงานร่วมกับสมาคมมาหลายปี รูปแบบการเขียนบท ไม่ได้มีแต่ในเชิงทฤษฎี ที่มีในตำราอย่างเดียว ยังมีประสบการณ์ความรู้ จากผู้ที่เขียนบทตัวจริง นักวิชาชีพตัวจริง ซึ่งเป็นสิ่งที่มีค่ามาก ที่ได้สะสมมายาวนานกว่า 40-50 ปี ในวงการเขียนบทละครโทรทัศน์ โครงการนี้ เริ่มจากการให้เยาวชน คนรุ่นใหม่เล่าเรื่องของตัวเองให้ท้องถิ่นให้เป็น และการสร้างทัศนคติเชิงบวกให้กับสังคม ที่สำคัญมันคือจุดเริ่มต้น ของมายเซ็ต ความคิด และวิธีการ การนำเรื่องและจุดเด่นมาเล่า ให้เกิดชิ้นงานที่สมบูรณ์แบบ และสามารถนำไปใช้เล่าเรื่องในศาสตร์อะไรก็ได้ เช่นเขียนนิยาย บทละคร เรื่องสั้น ผลิตคลิปทางสื่อออนไลน์ ต่อไป และหวังว่า ผู้เข้าร่วมอบรมและกระจายความรู้ให้กับเพื่อน ๆ ได้เปลี่ยนทัศนคติวิธีคิดและสร้างสรรค์วิธีการทำสื่อที่ปลอดภัยและสร้างสรรค์ ในโอกาสต่อไป
ทั้งนี้ โครงการ Workshop Camp “เล่นเล่าเรื่อง” จัดขึ้นระหว่างวันที่ 6-9 พฤศจิกายน 2567 ณ สถาบันวิชาการ NT โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ซึ่งผู้ที่เข้าร่วมอบรม จะได้เรียนรู้การเล่าเรื่อง โดยใช้หลักของการละครเข้ามา ได้ทำกิจกรรมร่วมกัน ได้วิธีคิด การปฏิบัติตัวในสังคม ได้รับทราบประสบการณ์และอุปสรรคของนักเขียนแต่ละคน ที่จะเป็นการสร้างแรงบันดาลใจ