สทนช. ครบรอบ 7 ปี พร้อมก้าวสู่ปีที่ 8 เดินหน้าบูรณาการบริหารจัดการน้ำอย่างเต็มที่ เร่งขับเคลื่อนกฎหมายลำดับรอง เสริมสร้างองค์ความรู้ให้กับคณะกรรมการลุ่มน้ำด้วยกระบวนการ SEA ใช้สำหรับวางแผนแม่บทลุ่มน้ำ เชื่อมโยงการบริหารจัดการน้ำแบบกลุ่มลุ่มน้ำ พร้อมกระชับความร่วมมือด้านน้ำระหว่างประเทศ เพื่อสร้างความมั่นคงด้านน้ำในทุกมิติอย่างยั่งยืน
วันนี้ (25 ต.ค. 67) ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยภายหลังการจัดกิจกรรมเนื่องในวันคล้ายวันสถาปนาสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ครบรอบ 7 ปี โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และรัฐวิสาหกิจ ร่วมแสดงความยินดี ณ สทนช. อาคารจุฑามาศ ถ.วิภาวดีรังสิต เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ ว่า ตลอดระยะเวลา 7 ปี สทนช. ได้เดินหน้าขับเคลื่อนการดำเนินงานในฐานะองค์กรหลักในการบูรณาการนโยบายการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศอย่างเป็นระบบ ภายใต้ 3 กลไกหลัก ประกอบด้วย กฎหมาย องค์กร และแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี เพื่อสร้างความมั่นคงด้านน้ำในทุกมิติอย่างยั่งยืน อาทิ การขับเคลื่อนการออกกฎหมายลำดับรอง ภายใต้พระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 โดยในปีนี้ สทนช.ได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการออกกฎหมายลำดับรองเพิ่มเติม จำนวน 3 ฉบับ ได้แก่ 1.กฎกระทรวงกำหนดลักษณะการใช้น้ำแต่ละประเภท เพื่อเป็นการกำหนดลักษณะหรือรายละเอียดการใช้น้ำประเภทที่หนึ่ง การใช้น้ำประเภทที่สอง และการใช้น้ำประเภทที่สาม 2.กฎกระทรวงกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมและยกเว้นค่าธรรมเนียมใบอนุญาตการใช้น้ำประเภทที่สองและใบอนุญาตการใช้น้ำประเภทที่สาม พ.ศ. 2567 เพื่อกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมใบอนุญาตการใช้น้ำประเภทที่สองและค่าธรรมเนียมใบอนุญาตการใช้น้ำประเภทที่สาม ไม่เกินอัตราที่กำหนด และ 3.กฎกระทรวงหลักเกณฑ์การกำหนดอัตราค่าใช้น้ำ การเรียกเก็บ ลดหย่อน และยกเว้นค่าใช้น้ำสำหรับการใช้น้ำประเภทที่สองและการใช้น้ำประเภทที่สาม พ.ศ. 2567 เพื่อให้กำหนดอัตราค่าใช้น้ำ การเรียกเก็บ ลดหย่อน และยกเว้นค่าใช้น้ำสำหรับการใช้น้ำประเภทที่สองและการใช้น้ำประเภทที่สาม โดยกำหนดให้แตกต่างกันโดยคำนึงถึงกิจกรรม ลักษณะ หรือปริมาณของการใช้น้ำในแต่และประเภทและในแต่ละลุ่มน้ำ
นอกจากนั้น สทนช.ได้มีส่วนร่วมในการออกกฎหมายลำดับรอง จำนวน 2 ฉบับ ที่อยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมทรัพยากรน้ำ ได้แก่ กฎกระทรวงการอนุญาตการใช้น้ำประเภทที่สองและประเภทที่สาม พ.ศ. 2567 และกฎกระทรวงกำหนดอัตราค่าใช้น้ำประเภทที่สองและประเภทที่สามที่ไม่ใช่น้ำจากทางน้ำชลประทานและไม่ใช่น้ำบาดาล พ.ศ. 2567 โดยยังเหลือกฎหมายลำดับรองอีก 3 ฉบับ ที่จะต้องเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จ ในส่วนการจัดทำผังน้ำ ตาม พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ จำนวน 22 ลุ่มน้ำ สทนช.ได้เสนอ (ร่าง) ผังน้ำลุ่มน้ำชีและลุ่มน้ำภาคใต้ฝั่งตะวันออกตอนล่าง ต่อคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติเห็นชอบแล้วและเตรียมประกาศในราชกิจจานุเบกษาต่อไป สำหรับผังน้ำที่เหลืออยู่ระหว่างกระบวนการเสนอต่อคณะกรรมการลุ่มน้ำพิจารณา
นอกจากนี้ คณะกรรมการลุ่มน้ำ ได้จัดทำแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ในเขตลุ่มน้ำ 22 ลุ่มน้ำ (พ.ศ. 2566–2580) ซึ่งสอดคล้องกับแผนแม่บทฯ น้ำ 20 ปี โดย สทนช. ได้เพิ่มศักยภาพในการขับเคลื่อนแผนฯ ให้กับคณะกรรมการลุ่มน้ำ โดยการจัดอบรมเชิงปฏิบัติการกระบวนการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (SEA) ได้ครอบคลุมทั้ง 22 ลุ่มน้ำ เพื่อนำไปใช้วางแผนด้านทรัพยากรน้ำระดับลุ่มน้ำ สะท้อนความต้องการและบริบทของแต่ละลุ่มน้ำได้อย่างแท้จริง ที่สอดคล้องสมดุลกันทั้ง 3 มิติ ได้แก่ มิติเศรษฐกิจ มิติสังคม และมิติสิ่งแวดล้อม ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการปรับปรุงแผนแม่บทลุ่มน้ำ เพื่อให้หน่วยงานและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้นำไปใช้จัดทำแผนปฏิบัติการด้านทรัพยากรน้ำในพื้นที่ได้อย่างเป็นรูปธรรม อีกส่วนหนึ่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่งคือ การจัดทำแผนปฏิบัติการด้านทรัพยากรน้ำผ่านระบบ Thai Water Plan ที่บูรณาการบริหารจัดการแผนงาน/โครงการด้านน้ำของประเทศอย่างเป็นระบบ โดยมีระบบ GIS (Geographic Information System) หรือระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ ช่วยในการวางแผนและวิเคราะห์แผนงานด้านน้ำในเชิงพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดความซ้ำซ้อนในการจัดทำแผนงานและการขอจัดตั้งงบประมาณ
สำหรับการบริหารจัดการน้ำในปี 67 ที่ผ่านมานี้ เราต้องทำงานท่ามกลางความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศ ทำให้ความรุนแรงของอุทกภัยเพิ่มมากขึ้น สทนช. จึงเน้นการดำเนินการเชิงรุก ในการประเมิน วิเคราะห์คาดการณ์สถานการณ์น้ำ และวางแผนบริหารแบบกลุ่มลุ่มน้ำที่เชื่อมโยงลุ่มน้ำข้างเคียงที่มีผลต่อการบริหารจัดการซึ่งกันและกัน ทำให้มีประสิทธิภาพในการบริหารจัดการเพิ่มมากขึ้น และลดความเสียหายจากอุทกภัยที่เกิดขึ้น และจากการระดมสมองถอดบทเรียนมาตรการรับมือฤดูฝนและมาตรการรองรับฤดูแล้งในปีที่ผ่านมา พร้อมลงพื้นที่ประเมินจุดเสี่ยง ทำให้การคาดการณ์ค่อนข้างแม่นยำ สามารถวางแผนตั้งรับกับสถานการณ์ที่สอดรับกับบริบทของพื้นที่และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยการจัดตั้งศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้า (ชั่วคราว) ในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยล่วงหน้า เพื่อบูรณาการหน่วยงานต่างๆ เร่งบริหารจัดการมวลน้ำหลากในช่วงสถานการณ์อุทกภัยที่ผ่านมา โดยบริหารจัดการปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำและลำน้ำให้มีความสัมพันธ์กัน สามารถกักเก็บน้ำไว้ในแหล่งน้ำ แก้มลิงหรือพื้นที่ลุ่มต่ำได้เต็มศักยภาพ ช่วยบรรเทาปัญหาน้ำท่วมขังและยังเป็นการสำรองน้ำไว้ใช้ช่วงฤดูแล้งถัดไปด้วย จากข้อมูล ณ วันที่ 24 ต.ค. 67 ปริมาณน้ำในแหล่งน้ำทั่วประเทศรวมกันอยู่ที่ 65,373 ล้าน ลบ.ม. หรือ 81% ของปริมาณความจุเก็บกักซึ่งมากกว่าปริมาณน้ำในปี 66 จำนวน 3,059 ล้าน ลบ.ม. นับว่าปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์ดีมาก ทำให้สามารถใช้ได้อย่างเพียงพอตลอดช่วงฤดูแล้งนี้
“สำหรับการก้าวเดินเข้าสู่ปีที่ 8 และปีต่อๆ ไป โจทย์ที่ท้าทายการทำงานของ สทนช. ประกอบด้วยหลายปัจจัย ได้แก่ ความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศ การเปลี่ยนแปลงของผังน้ำ การใช้ประโยชน์ที่ดินที่เปลี่ยนแปลงไป วัฒนธรรมการใช้ชีวิตแบบชุมชนเมืองที่แผ่ขยายมากขึ้น สิ่งเหล่านี้ย่อมทำให้เกิดผลกระทบด้านน้ำในเรื่องต่างๆ ได้แก่ อุทกภัย ภัยแล้ง และปัญหาคุณภาพน้ำ แต่ สทนช. ก็ตั้งมั่นที่จะเป็นหน่วยงานกลางที่จะบูรณาการการทำงานร่วมกับทุกภาคส่วนเพื่อสร้างความมั่นคงด้านน้ำในทุกมิติอย่างยั่งยืนต่อไป” เลขาธิการ สทนช. กล่าวในตอนท้าย