วันที่ 1 ตุลาคม 2567 ณ ศูนย์บริหารจัดการน้ำอัจฉริยะ โครงการชลประทานศรีสะเกษ (SWOC) นายอนุพงศ์ สุขสมนิตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ ได้เรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อประชุมหารือเร่งด่วน ในการวางแผนการช่วยเหลือประชาชน และเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำท่วมปี 2567 ตามที่สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ได้แจ้งเตือน โดยได้มีการถ่ายทอดสดผ่านระบบ VDO Conference (Zoom) ไปยังประชาชนในพื้นที่ต่างๆ เพื่อสอบถามข้อมูลจากพื้นที่เสี่ยงภัยน้ำท่วมในอำเภอต่างๆ ได้แก่ ห้วยทับทัน ภูสิงห์ และกันทรารมย์ โดยมีนายจำรัส สวนจันทร์ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานศรีสะเกษ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สำนักงานป้องกันและบรรเทาสารธารณะภัย สถานีอุตุนิยมวิทยาศรีสะเกษ ท้องถิ่นจังหวัดศรีสะเกษ เทศบาลเมืองศรีสะเกษ สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมศรีสะเกษ เป็นต้น เข้าร่วมประชุม เพื่อเตรียมความพร้อมในการช่วยเหลือประชาชนจากภาวะน้ำท่วมปี 2567 ที่อาจจะเกิดขึ้นได้ รวมไปถึงเพื่อทราบข้อมูล ข้อเท็จจริงจากประชาชนในพื้นที่ความเสี่ยงภัย
นายจำรัส สวนจันทร์ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานศรีสะเกษ เปิดเผยว่า โครงการชลประทานศรีสะเกษ ได้คาดการณ์พื้นที่เสี่ยงภัยน้ำท่วมในปี 2567 ได้แก่ บริเวณพื้นที่ตามแนวชายแดนไทย- กัมพูชา ที่มีความลาดชันสูงและฝนตกชุก และบริเวณจุดตรวจวัดระดับน้ำที่สถานี M.42 บริเวณลำห้วยทับทัน ที่มีต้นน้ำมาจากจังหวัดสุรินทร์ ซึ่งระดับน้ำใกล้ถึงระดับตลิ่งแล้ว ส่วนพื้นที่ระดับน้ำยังต่ำกว่าตลิ่งมาก แต่ยังคงต้องติดตามข้อมูลสภาพอากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างใกล้ชิด นอกจากนี้ ยังได้ประเมินสถานการณ์น้ำ ทั้งระบบในลุ่มน้ำโขง ชี มูล เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำของจังหวัดศรีสะเกษไม่กระทบต่อประชาชนและพื้นที่จังหวัดใกล้เคียง เช่น จังหวัดอุบลราชธานีได้
อนึ่ง ในพื้นที่จังหวัดศรีสะเกษ กรมชลประทาน ได้วางแผนในการแก้ไขปัญหาทั้งน้ำท่วมและภัยแล้งอย่างเป็นระบบ ด้วยการดำเนินโครงการฯต่างๆ อาทิ โครงการก่อสร้างประตูระบายน้ำลำห้วยสำราญ คาดว่าจะแล้วเสร็จในช่วงปี 2569 โดยเป็นโครงการฯที่กรมชลประทานได้เสนอให้ที่ประชุม ครม.สัญจรที่จังหวัดอุบลราชธานี ในช่วงปี 2561 และต่อมาในรัฐบาลของนายเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรี ยังได้สั่งการให้กรมชลประทานดำเนินการศึกษาโครงการเร่งด่วนอื่นๆ ให้แล้วเสร็จภายในปี 2569 ได้แก่ โครงการผันน้ำจากลำห้วยสำราญไปลำห้วยขยูง และโครงการผันน้ำ(bypass)จากลำห้วยสำราญไปแม่น้ำมูล บริเวณเขตเทศบาลเมืองศรีสะเกษ หากศึกษาเสร็จเรียบร้อยแล้ว (Final. Report) คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ในปี 2571 จะช่วยแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำให้กับพี่น้องประชาชนชาวศรีสะเกษได้เป็นอย่างมาก