Newstimestory

ครบรอบ 22 ปี มกอช. ขับเคลื่อนงานด้านมาตรฐานสินค้าเกษตร สร้างความยั่งยืนสู่สากล ภายใต้แนวคิด “Go Green Go Global”

สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) จัดงานเนื่องในโอกาสวันคล้ายวันสถาปนา มกอช. ครบรอบ 22 ปี ประจำปี 2567 ภายใต้แนวคิด “Go Green Go Global ขับเคลื่อนงานด้านมาตรฐานสินค้าเกษตร เพื่อสร้างความยั่งยืนสู่สากล” มุ่งเน้นการทำการเกษตรที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม สร้างความยั่งยืนด้วยมาตรฐานสินค้าเกษตร พร้อมกับสร้างระบบให้มีมาตรฐานและการมีส่วนร่วมเพื่อการยอมรับสู่สากล ควบคู่กับการขับเคลื่อนนโยบาย “เกษตรกรต้องอยู่ดี สินค้าเกษตรมูลค่าสูง ทรัพยากรเกษตรยั่งยืน” มุ่งยกระดับเกษตรกร ผู้ประกอบการ เข้าสู่ระบบมาตรฐาน เพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของสินค้าไทยในตลาดโลก

นายประยูร อินสกุล ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า เนื่องด้วยนโยบายของรัฐบาล “ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้” และนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ “เกษตรกรต้องอยู่ดี สินค้าเกษตรมูลค่าสูง ทรัพยากรเกษตรยั่งยืน”  โดยมุ่งเน้นการขับเคลื่อนงานภายใต้นโยบายด้านการเกษตรทั้ง 9 นโยบาย คือ 1) สร้างวิธีการทำงานสู่การปฏิบัติ 2) เร่งรัดจัดที่ดินทำกินให้กับเกษตรกร 3) บริหารจัดการน้ำ 4) ยกระดับสินค้าเกษตรและบริการมูลค่าสูง 5) ยกระดับศักยภาพของเกษตรกร และสถาบันเกษตรกรให้เข้มแข็ง 6) จัดการทรัพยากรทางการเกษตร 7) รับมือกับภัยธรรมชาติ 8) สานต่อการทำสงครามสินค้าเกษตรเถื่อน และ 9) อำนวยความสะดวกด้านการเกษตร มกอช. ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่มีภารกิจหลักด้านการมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหาร ทำหน้าที่กำหนด ส่งเสริม ควบคุม และดูแลระบบการตรวจสอบรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตรตั้งแต่ระดับไร่นาจนถึงผู้บริโภค ตลอดจนการเจรจาแก้ไขปัญหาทางการค้าเชิงเทคนิค เพื่อปรับปรุงและยกระดับคุณภาพสินค้าเกษตรและอาหารของไทยให้ได้มาตรฐาน มีคุณภาพและความปลอดภัยตามมาตรฐานสากล สามารถแข่งขันได้ในเวทีโลก สอดคล้องกับนโยบาลของรัฐบาลด้านการเกษตรในการยกระดับสินค้าเกษตรและบริการมูลค่าสูง มีความมุ่งมั่นในการพัฒนาและยกระดับเกษตรกร ผู้ประกอบการเข้าสู่ระบบมาตรฐาน ผลิตและพัฒนาสินค้าเกษตรมูลค่าสูง รวมไปถึงการสร้างองค์ความรู้ และการตระหนักรู้ถึงสินค้าเกษตรที่มีมาตรฐาน มีคุณภาพ ผ่านตราสัญลักษณ์ Q เพื่อความเป็นอยู่ของเกษตรกรที่ดีขึ้น รวมไปถึงการสร้างสังคมและทรัพยากรเกษตรที่ยั่งยืน

สำหรับงานสถาปนา ครบรอบปีที่ 22 มกอช. จัดขึ้นภายใต้ธีม “Go Green Go Global: ขับเคลื่อนมาตรฐานสินค้าเกษตร สร้างความยั่งยืนสู่สากล” เพื่อตอกย้ำถึงแนวทางการดำเนินงานของ มกอช. ที่มุ่งมั่นขับเคลื่อนภารกิจตามนโยบายของรัฐบาลและนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ อีกทั้งเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน และยกระดับพัฒนางานด้านการมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารของไทย ดังนี้

Go Green การทำการเกษตรที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม ด้วยมาตรฐานสินค้าเกษตรที่ยั่งยืน มกอช. ได้จัดทำมาตรฐานสินค้าเกษตรอย่างยั่งยืน เพื่อให้ระบบการผลิต การแปรรูป การจัดจำหน่ายผลผลิต คำนึงและรักษาไว้ซึ่งระบบนิเวศ สภาพแวดล้อม และความหลากหลายทางชีวภาพ รวมทั้งส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกรและผู้บริโภค ตลอดจนพัฒนางานด้านการมาตรฐานตามหลัก BCG Model เพื่อขับเคลื่อนภาคการเกษตรตลอดห่วงโซ่คุณภาพ (Value Chain) ให้เติบโต กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้กำหนดแนวทางการขับเคลื่อน ภายใต้นโยบายจัดการทรัพยากรทางการเกษตรทำการเกษตรที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม (Go Green) ด้วย BCG และ Carbon Credit ซึ่งในปี ที่ผ่านมา มกอช. ได้มีการดำเนินการกำหนดมาตรฐาน และโครงการที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม รวมไปถึงการทำการเกษตรที่ยั่งยืน ได้แก่ โครงการพัฒนาต้นแบบการผลิตข้าวยั่งยืน ซึ่งเป็นโครงการที่ส่งเสริมและสนับสนุนให้เกษตรกร กลุ่มเกษตรกรผู้ผลิต มีความรู้ ความเข้าใจ ตามข้อกำหนดของมาตรฐานสินค้าเกษตร เรื่อง ข้าวยั่งยืน (มกษ. 4408-2565) โดยมีกลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ กลุ่มเกษตรกรผู้ผลิตข้าวยั่งยืนขาณุโมเดล จังหวัดกำแพงเพชร และกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มแปรรูปข้าว ในพื้นที่ 3 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดนครพนม มุกดาหาร และสกลนคร ระบบการรับรองเกษตรอินทรีย์แบบมีส่วนร่วม (PGS) ในพื้นที่ 16 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงราย ลำปาง ขอนแก่น มหาสารคาม นครสวรรค์ กำแพงเพชร นครนายก สระแก้ว จันทบุรี ระยอง แพร่ อุตรดิตถ์ เพชรบูรณ์ ลพบุรี สุราษฎร์ธานี และแม่ฮ่องสอน มาตรฐานสินค้าเกษตร เรื่อง การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีปลอดการเผาสำหรับข้าวโพดเมล็ดแห้ง และได้ยกร่างมาตรฐานสินค้าเกษตร เรื่อง การปฏิบัติที่ดีสำหรับการผลิตพืชปลอดการเผา โครงการศึกษาการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคการเกษตร เพื่อเตรียมความพร้อมทางการค้าและพัฒนาการผลิตอย่างยั่งยืนผ่านแว็บแอปพลิเคชัน https://co2cal.acfs.go.th และโครงการวิจัย “การศึกษาแนวทางและจัดทำข้อเสนอกรอบนโยบายระดับชาติในการปฏิบัติตามกฎระเบียบว่าด้วยสินค้าที่ปลอดจากการจัดไม้ทำลายป่าของสหภาพยุโรป (EUDR)” ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน)

Go Global การสร้างระบบให้มีมาตรฐาน สร้างการมีส่วนร่วมเพื่อการยอมรับสู่สากล: มกอช. ได้ดำเนินการสร้างการมีส่วนร่วมให้กับภาคการผลิต และการตรวจรับรองมาตรฐาน รวมถึงการควบคุมและตรวจติดตามอย่างเป็นระบบ เพื่อให้สินค้าเกษตรมีคุณภาพ มาตรฐาน และความปลอดภัยก่อนถึงมือผู้บริโภค โดยใช้สัญลักษณ์ Q ที่แสดงถึงผลผลิตทางการเกษตรที่มีคุณภาพ ความปลอดภัย และเป็นไปตามมาตรฐานระบบการผลิต ได้แก่ มาตรฐานสินค้าเกษตร เรื่อง หลักปฏิบัติในการตรวจและรับผลทุเรียนสำหรับโรงรวบรวมและโรงคัดบรรจุ (มกษ. 9070 – 2566): ล้งทุเรียน ซึ่งเป็นมาตรฐานบังคับ ที่จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 10 กรกฎาคม 2568 ระบบการรับรองผลิตภัณฑ์รูปแบบใหม่โดยการประยุกต์ใช้ระบบการประเมินผู้ส่งมอบ (Supplier Audit) กระบวนการผลิตเมล็ดกาแฟ ระบบการควบคุม กำกับดูแล และตรวจสอบด้านมาตรฐานบังคับ ซึ่งได้แก่ โครงการกำกับดูแลสินค้าเกษตรตามพระราชบัญญัติมาตรฐานสินค้าเกษตร พ.ศ. 2551 โครงการเฝ้าระวังความปลอดภัยในสินค้าเกษตรตามมาตรฐานบังคับ โครงการเฝ้าระวังความปลอดภัยในสินค้าเกษตรตามมาตรฐานทั่วไป การตรวจสอบการใช้และแสดงเครื่องหมายรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตร การขออนุญาตและการแจ้งนำเข้าส่งออก ผ่านระบบ TAS-License การสร้างช่องทางออนไลน์ในการจำหน่ายสินค้าเกษตรมาตรฐานผ่านเว็บไซต์สินค้าเกษตรมาตรฐาน-ออนไลน์ (DGTFarm) และระบบตามสอบสินค้าเกษตรระบบคลาวด์ (QR Trace on Cloud) 


“ในปีที่ผ่านมา มกอช. มุ่งมั่นพัฒนาองค์กรด้านการมาตรฐานสินค้าเกษตร เพื่อยกระดับสินค้าเกษตรมูลค่าสูง และความเป็นอยู่ของเกษตรที่ดีขึ้น ซึ่งสามารถการันตีผ่านรางวัลเลิศรัฐ ที่สำนักงาน ก.พ.ร มอบให้กับหน่วยงานของรัฐที่ผลการพัฒนาคุณภาพ การให้บริการที่ดี โดยในปี 2567 มกอช. ได้รับรางวัลดังกล่าว จำนวน 2 รางวัล ได้แก่ ประเภทคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ 4.0 (PMQA 4.0) ระดับก้าวหน้า และสาขาบริการภาครัฐ ประเภทบูรณาการข้อมูลรูปแบบดิจิทัลจากผลงาน การขอใบอนุญาตและการแจ้งนำเข้า-ส่งออกผ่านระบบ TAS-License ซึ่งเป็นการตอกย้ำความสำเร็จของการเป็นหน่วยงานที่มุ่งมั่นพัฒนาคุณภาพการทำงานให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ตลอดจนนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการประชาชนอย่างมืออาชีพ” ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์  กล่าว

ใหม่กว่า เก่ากว่า