นางกาญจนา แดงรุ่งโรจน์ รองเลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) เปิดเผยว่าตามที่รัฐบาลมีความมุ่งมั่นที่จะสร้างรายได้ให้เกษตรกร โดยใช้หลักการ “ตลาดนำนวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้” ด้วยการลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต สร้างมูลค่าเพิ่ม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงได้กำหนดแนวทางการขับเคลื่อน Ignite Thailand : agriculture hub จุดพลัง รวมใจ ไทยต้องเป็นหนึ่ง ยกระดับประเทศไทยสู่ศูนย์กลางเกษตรและอาหารของโลก ยกระดับภาคการเกษตรให้เกษตรกรมีรายได้มากขึ้น 3 เท่าใน 4 ปี ดูแลตั้งแต่ต้นน้ำในภาคการผลิต จนไปถึงการแปรรูปส่งออกไปยังตลาดโลก ตลอดห่วงโซ่ โดยได้จัดทำพื้นที่ต้นแบบในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกร และพัฒนาอาชีพเพื่อเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตร ซึ่งได้มีการดำเนินการในจังหวัดชัยนาท ภายใต้ชื่อ “ชัยนาทโมเดล”
“ชัยนาทโมเดล” คือ การพัฒนาและส่งเสริมให้เกษตรกรจำนวนมากกว่า 100 ครอบครัว ได้มีอาชีพเลี้ยงโคเนื้อ โดยให้องค์ความรู้สนับสนุนแหล่งเงินทุน ใช้ปัจจัยการผลิตท้องถิ่น ยกระดับคุณภาพและมาตรฐานสินค้าเกษตร และหาช่องทางการตลาด ให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น มากกว่าการผลิตพืชเพียงอย่างเดียว ลดความเสี่ยงด้านการผลิตและการตลาด
ชัยนาท มีเกษตรกรผู้เลี้ยงโคเนื้อทุกสายพันธุ์มีทั้งหมด 3,557 ราย ปริมาณการผลิตโคเนื้อ 58,088 ตัว การเลี้ยงโค ถือว่าเป็นอาชีพที่ทำรายได้เลี้ยงครอบครัวได้เป็นอย่างดี เนื่องจากโคเป็นสัตว์ที่กินง่ายโตไว อีกทั้งปัจจุบันมีความต้องการการบริโภคเนื้อสัตว์เพิ่มสูงขึ้น ทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ กรมปศุสัตว์ โดยสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดชัยนาท ได้มีการพัฒนาสายพันธุ์ชัยนาทบีฟ ทำให้โคเนื้อมีความโดดเด่น “เนื้อโคมีความนุ่ม อุ้มน้ำ ไขมันแทรกสูง” จึงเป็นที่มาของเนื้อโคที่ตรงกับความต้องการของผู้บริโภค และเป็นที่ยอมรับในตลาดเกรดพรีเมี่ยม จึงทำให้จังหวัดชัยนาทสามารถผลิตสินค้าที่มีอัตลักษณ์ เป็นเนื้อโคคุณภาพประจำจังหวัดชัยนาท ที่เรียกว่า “โคหนุ่ม เนื้อนุ่ม ลุ่มเจ้าพระยา”
มกอช. ในฐานะหน่วยงานหลักด้านมาตรฐานสินค้าเกษตรของไทย ได้ดำเนินการขับเคลื่อนโครงการพัฒนาและยกระดับฟาร์มโคเนื้อสู่เกษตรมูลค่าสูง ร่วมกับสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดชัยนาท เพื่อพัฒนาเกษตรกรผู้เลี้ยงโคเนื้อในจังหวัดชัยนาท ให้มีความรู้ ความเข้าใจเกณฑ์กำหนดของมาตรฐานสินค้าเกษตร เรื่อง การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับฟาร์มโคเนื้อ (มกษ.6400-2555) สามารถปรับปรุงกระบวนการผลิตให้มีความสอดคล้องเป็นไปตามมาตรฐาน มีความพร้อมในการยื่นขอการรับรองตามมาตรฐาน การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับฟาร์มโคเนื้อ (มกษ.6400-2555) เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้บริโภคในเรื่องคุณภาพ และความปลอดภัยของสินค้า และยังทำให้เกษตรกรผู้เลี้ยงโคเนื้อมีศักยภาพเพียงพอในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและพัฒนาอาชีพการเลี้ยงโคเนื้อของตนเองให้เป็นอาชีพที่มีรายได้ที่มั่นคงและยั่งยืน
“นอกจากนี้ มกอช.ได้ส่งเสริมการใช้เครื่องหมาย Q คือ เครื่องหมายรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตรที่ปฏิบัติตามมาตรฐานและขอการรับรองมาตรฐานตามเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนด ซึ่งผู้บริโภคสามารถเลือกซื้อและเลือกบริโภคสินค้าเกษตรที่มีมาตรฐาน คุณภาพ และเชื่อมั่นในความปลอดภัย ผ่านทาง ร้าน Q market สถานที่จำหน่ายสินค้า Q ประเภทโมเดิร์นเทรด และร้านอาหาร Q Restaurant” รองเลขาธิการ มกอช. กล่าว