นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ เปิดเผยว่า รัฐบาลและกระทรวงแรงงาน ได้ให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างหลักประกันความมั่นคงให้แก่ผู้ใช้แรงงาน เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ให้ดียิ่งขึ้น ซึ่งบ้านหรือที่อยู่อาศัยเป็นหนึ่งในปัจจัย 4 ที่มีความสำคัญในฐานะของทรัพย์สินที่สร้างความมั่นคงในชีวิต และเป็นการเพิ่มศักยภาพในกิจกรรมทางเศรษฐกิจของครัวเรือน โดยปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยสินเชื่ออยู่ในระดับสูง ส่งผลให้ผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม ที่มีความประสงค์จะมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเองประสบความยากลำบาก กระทรวงแรงงาน ตระหนักถึงความจำเป็นในการช่วยเหลือผู้ประกันตนให้สามารถมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเองในช่วงค่าครองชีพสูง จึงให้สำนักงานประกันสังคมดำเนินการผลักดันให้เกิดมาตรการสินเชื่อที่อยู่อาศัยดอกเบี้ยต่ำ ภายในวงเงินจำนวนไม่เกิน 10,000 ล้านบาท ซึ่งคณะกรรมการประกันสังคมได้มีมติเห็นชอบ เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2567 ให้ดำเนิน “โครงการสินเชื่อที่อยู่อาศัยเพื่อผู้ประกันตน พ.ศ.2567” โดยร่วมมือกับธนาคารอาคารสงเคราะห์ จัดโครงการดังกล่าวขึ้นมาอีกครั้ง ทั้งนี้ได้เปิดโอกาสให้ผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมมาตรา 33 มาตรา 39 และมาตรา 40 สามารถขอสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ ร้อยละ 1.59 ต่อปี คงที่เป็นระยะเวลา 5 ปี และในปีที่ 6 – 8 อัตราดอกเบี้ยร้อยละ MRR (Minimum Retail Rate) – 2 ต่อปี และตั้งแต่ปีที่ 9 เป็นต้นไป อัตราดอกเบี้ยร้อยละ MRR – 0.5 ต่อปี โดยผู้ประกันตนจะได้รับสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำไม่เกินรายละ 2,000,000 บาท ทั้งนี้ นายพิพัฒน์ กล่าวถึงความเชื่อมั่นว่า โครงการสินเชื่อที่อยู่อาศัยเพื่อผู้ประกันตนนี้ จะสามารถช่วยเหลือให้ผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมสามารถเป็นเจ้าของที่อยู่อาศัย และช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้ประกันตนได้อย่างแท้จริง
ด้านนายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) กล่าวว่า สำนักงานประกันสังคมและธนาคารอาคารสงเคราะห์มีเป้าหมายร่วมกันที่จะช่วยเหลือให้ผู้ประกันตน สามารถมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเองในอัตราดอกเบี้ยต่ำ ภายในวงเงินจำนวนไม่เกิน 10,000 ล้านบาท โดยโครงการนี้ได้เปิดโอกาสให้ผู้ประกันตนทั้งมาตรา 33 มาตรา 39 และมาตรา 40 สามารถขอสินเชื่อได้ 3 วัตถุประสงค์ ได้แก่ 1.เพื่อซื้อที่อยู่อาศัย 2.เพื่อปลูกสร้างที่อยู่อาศัย และ 3.เพื่อซื้อที่ดินพร้อมปลูกสร้างที่อยู่อาศัย แต่ไม่สามารถขอสินเชื่อเพื่อ Refinance ได้ โดยกำหนดสัดส่วนวงเงินสินเชื่อสำหรับผู้ประกันตน จำแนกตามจังหวัดที่ผู้ประกันตนมีชื่ออยู่ในฐานทะเบียน
ผู้ประกันตนที่สนใจสามารถขอหนังสือรับรองสถานะความเป็นผู้ประกันตนได้จาก Application SSO Plus ได้ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2567 และสามารถยื่นขอสินเชื่อกับธนาคารอาคารสงเคราะห์ได้ตามวันที่ระบุในหนังสือรับรอง พร้อมกับเอกสารประกอบการยื่นขอสินเชื่อตามที่ธนาคารกำหนด สำหรับผู้ประกันตนที่ได้รับหนังสือรับรองเป็นคิวสำรอง สามารถตรวจสอบการเรียกคิวได้ตามช่องทางที่แจ้งในหนังสือรับรอง และยื่นขอสินเชื่อตามช่วงวันที่ประกาศแจ้ง ทั้งนี้ การพิจารณาวงเงินสินเชื่อ เป็นไปตามระเบียบของธนาคาร โดยโครงการนี้จะสิ้นสุดในวันที่ 30 ธันวาคม 2568 หรือจนครบวงเงินที่ได้รับอนุมัติโครงการ
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่ ทั้ง 12 แห่ง สำนักงานประกันสังคมจังหวัด/สาขาที่ท่านสะดวก หรือ โทรสายด่วน 1506 ติดต่อสอบถามได้ตลอด 24 ชั่วโมง หรือดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.sso.go.th