สทนช. จัดประชุมสัมมนาถอดบทเรียนการติดตามประเมินผลการบริหารจัดการน้ำ และมาตรการรองรับในช่วงฤดูแล้ง ปี 2566/67 ประเมินผลช่วงสิ้นสุดฤดูร่วมกับทุกภาคส่วน มุ่งใช้เป็นกรอบแนวทางในการแก้ไขปัญหาแล้งปีถัดไปให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
วันนี้ (12 ก.ย. 67) ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เป็นประธานการประชุมสัมมนาถอดบทเรียนการติดตามประเมินผลการบริหารจัดการน้ำ และมาตรการรองรับในช่วงฤดูแล้ง ปี 2566/67 โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจากภาคส่วนต่าง ๆ ใน 8 กระทรวง 31 หน่วยงาน รวมทั้งผู้ทรงคุณวุฒิ คณะกรรมการลุ่มน้ำและ เครือข่ายองค์กรผู้ใช้น้ำ นักวิชาการ ภาคประชาชน และสื่อมวลชน รวมมากกว่า 250 คน ณ ห้องประชุมแกรนด์บอลรูม ชั้น 1 โรงแรมรามา การ์เด้นส์ กรุงเทพฯ ถนนวิภาวดี แขวงตลาดบางเขน เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ และผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ พร้อมถ่ายทอดสดการประชุมผ่านระบบ Facebook ของ สทนช.
เลขาธิการ สทนช. กล่าวว่า ในช่วงฤดูแล้ง ปี 2566/67 สทนช. ได้ร่วมบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องบริหารจัดการทรัพยากรน้ำฤดูแล้ง ภายใต้กรอบปฏิทินการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำฤดูแล้งที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) โดยตั้งแต่ช่วงก่อนเข้าสู่ฤดูแล้ง ได้มีการเตรียมการและสร้างการรับรู้ โดยคาดการณ์ปริมาณน้ำตลอดช่วงฤดูแล้ง เพื่อกำหนดแผนการใช้น้ำและพื้นที่เพาะปลูกพืช รวมถึงคาดการณ์พื้นที่เสี่ยงภัยแล้ง พร้อมทั้งประกาศพื้นที่เสี่ยงดังกล่าว เพื่อให้หน่วยงานช่วยกันเฝ้าระวังและสามารถช่วยเหลือได้ทันเหตุการณ์หากเกิดภัย พร้อมทั้งกำหนดมาตรการรองรับสถานการณ์ภัยแล้ง ปี 2566/67 จำนวน 9 มาตรการ เสนอต่อคณะรัฐมนตรีเห็นชอบ เมื่อวันที่ 6 ก.พ. 2567เพื่อเป็นกรอบแนวทางในการเตรียมความพร้อมรับมือแล้งเชิงป้องกัน รวมถึงประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ให้ประชาชนได้รับทราบ ประกอบด้วย เฝ้าระวังและเตรียมจัดหาแหล่งน้ำสำรอง พร้อมวางแผนเตรียมเครื่องจักรเครื่องมือในพื้นที่เฝ้าระวังเสี่ยงขาดแคลนน้ำ ปฏิบัติการเติมน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ กำหนดแผนจัดสรรน้ำและพื้นที่เพาะปลูกพืชฤดูแล้ง บริหารจัดการน้ำให้เป็นไปตามลำดับความสำคัญการใช้น้ำที่คณะกรรมการลุ่มน้ำกำหนด เพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำ ประหยัดน้ำ และลดการสูญเสียน้ำในทุกภาคส่วน เฝ้าะระวังและแก้ไขคุณภาพน้ำ เสริมสร้างความเข้มแข็งด้านการบริหารจัดการน้ำของชุมชน/องค์กรผู้ใช้น้ำ สร้างการรับรู้ประชาสัมพันธ์ ติดตามและประเมินผลการดำเนินงาน และในช่วงตลอดฤดูแล้ง ได้วิเคราะห์ ติดตาม ประเมินพื้นที่เสี่ยงภัยและการให้ความช่วยเหลือ รวมทั้งประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้สถานการณ์น้ำ และการให้ความช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง โดยในวันนี้เป็นการประเมินผลในช่วงสิ้นสุดฤดู เพื่อเป็นกรอบแนวทางในการแก้ไขปัญหาแล้งปีถัดไป
สำหรับผลการดำเนินการตาม 9 มาตรการรองรับฤดูแล้ง ปี 2566/67 พบว่ามีผลการดำเนินการที่มีประสิทธิภาพและเป็นไปตามเป้าหมาย เป็นรูปธรรม อาทิ มีการส่งเสริมประสิทธิภาพการใช้น้ำในระดับไร่นาและปลูกพืชใช้น้ำน้อยเสริมสร้างรายได้เกษตรกร รวมทั้งการถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรม รวมพื้นที่ 220,998 ไร่ ลดการสูญเสียน้ำในระบบประปา มีอัตราการสูญเสียน้ำเพียง 25 – 27% ซึ่งเป็นไปตามแผน มีการตรวจวัดคุณภาพน้ำแม่น้ำสายหลักและสายรอง 50 แห่ง และแหล่งน้ำธรรมชาติ 9 แห่ง พบว่าอยู่ในเกณฑ์ปกติตลอดฤดู รวมถึงแหล่งน้ำดิบผลิตน้ำประปาคุณภาพน้ำอยู่ในเกณฑ์คุณภาพดีตลอดฤดู มีการประชาสัมพันธ์สถานการณ์น้ำและการร่วมแก้ไขปัญหากับกลุ่มผู้ใช้น้ำทั้งในและนอกเขตชลประทานจำนวน 29,464 ราย นอกจากนี้ สทนช. ได้ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ประชุมติดตามสถานการณ์ทุกสัปดาห์เพื่อปรับแผนการดำเนินการรองรับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น และมีการลงพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำเพื่อแก้ไขปัญหาในพื้นที่ 36 จังหวัด 72 อำเภอ 127 ตำบล ทั้งนี้ มีการประกาศพื้นที่เขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ (ภัยแล้ง) 16 จังหวัด 56 อำเภอ 243 ตำบล
“ในขณะนี้ที่อยู่ระหว่างฤดูฝน ก็ยังมีการดำเนินการตามมาตรการรองรับฤดูแล้งขนานกันไปด้วย คือการกักเก็บน้ำในแหล่งน้ำต่างๆ ให้ได้มากที่สุดไว้ใช้ในฤดูแล้งหน้า และในวันนี้ผู้เข้าร่วมการประชุมจากทุกภาคส่วนได้ร่วมถอดบทเรียนการบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูแล้งที่ผ่านมา โดยได้มีการแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นร่วมกัน ถึงปัญหาและอุปสรรคในการบริหารจัดการน้ำภายใต้มาตรการรองรับฤดูแล้งปี 2566/67 พร้อมทั้งให้ข้อเสนอแนะต่อ (ร่าง) 8 มาตรการรองรับฤดูแล้ง ปี 2567/68 ที่ สทนช. ได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำขึ้น ซึ่งเพิ่มเติมมาตรการในการสร้างความมั่นคงน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค ทั้งนี้ 8 มาตรการดังกล่าว จะนำไปสู่การกำหนดแนวทางแก้ไขปัญหาภัยแล้ง และเตรียมความพร้อมรองรับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นในช่วงฤดูแล้งปีถัดไปให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น” เลขาธิการ สทนช. กล่าว