กรมชลประทาน เปิดเผยถึง สถานการณ์น้ำปัจจุบัน (14 ส.ค. 67) ว่า อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้นประมาณ 44,409 ล้าน ลบ.ม. (58% ของความจุอ่างฯ รวมกัน) ยังสามารถรองรับน้ำได้รวมกันอีกกว่า 31,928 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้นประมาณ 11,684 ล้าน ลบ.ม. (47% ของความจุอ่างฯ รวมกัน) ยังสามารถรองรับน้ำได้รวมกันอีกกว่า 13,187 ล้าน ลบ.ม. คาดการณ์ว่าเมื่อสิ้นสุดฤดูฝน ณ วันที่ 1 พฤศจิกายน 2567 จะมีปริมาณน้ำใช้การทั้งประเทศรวมกันประมาณ 36,921 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 78 ของปริมาณน้ำใช้การได้รวมกัน เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา (2566) ในห้วงเวลาเดียวกัน ทั้งประเทศมีปริมาณน้ำใช้การมากกว่าปีที่แล้วประมาณ 4,000 ล้าน ลบ.ม.
ด้านสถานการณ์น้ำท่าส่วนใหญ่ปัจจุบันอยู่ในสภาวะปกติ แต่ยังคงต้องเฝ้าระวังสถานการณ์ฝน ตามประกาศ ของสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ที่ให้เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก จากร่องมรสุมกำลังปานกลางพาดผ่านตอนบนของภาคเหนือ และประเทศลาวตอนบน เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณประเทศเวียดนามตอนบน ประกอบกับร่องมรสุมกำลังปานกลางจะเลื่อนลงมาพาดผ่านภาคเหนือตอนบนและและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ในขณะที่มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยมีกำลังปานกลางทำให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้น และมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน และภาคตะวันออก ในช่วงวันที่ 16 – 22 สิงหาคมนี้
สำหรับสถานการณ์อุทกภัยจากปริมาณฝนที่ตกต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลให้มีพื้นที่ประสบปัญหาอุทกภัยรวม 40 จังหวัด ขณะนี้สถานการณ์กลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว 37 จังหวัด ยังคงเหลือพื้นที่ประสบอุทกภัยบางพื้นที่ในจังหวัดแม่ฮองสอน พระนครศรีอยุธยา และสุพรรณบุรี กรมชลประทาน ได้ร่วมบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งให้ความช่วยเหลืออย่างต่อเนื่องจนกว่าสถานการณ์จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ส่วนพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซากอย่างที่ อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี กรมชลประทาน ได้ทำการก่อสร้างพนังกั้นน้ำริมแม่น้ำมูล บริเวณจุดฟันล่อชุมชนวังแดงและชุมชนท่าก่อไผ่ เพื่อป้องกันน้ำจากลำน้ำมูลไหลเข้าท่วมพื้นที่ ช่วยลดผลกระทบที่จะเกิดกับประชาชนให้ได้มากที่สุด ด้านพื้นที่ลุ่มน้ำชี ได้ทำการเปิดบานประตูระบายน้ำทุกแห่ง เพื่อเร่งระบายน้ำออกจากลำน้ำ พร้อมปรับการระบายน้ำจากเขื่อนอุบลรัตน์และเขื่อนลำปาวให้สอดคล้องกับสถานกาณ์ตามช่วงเวลา โดยไม่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ท้ายน้ำ เพื่อเตรียมรองรับสถานการณ์ฝนที่จะมาถึงในระยะต่อไป
ทั้งนี้ กรมชลประทาน ได้วางแผนบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูฝนให้สอดคล้องกับสถานการณ์ มีการติดตามสภาพอากาศจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง พร้อมควบคุมปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำให้อยู่ในเกณฑ์ที่กำหนด ร่วมกับการใช้ระบบชลประทานในการบริหารจัดการน้ำในแต่พื้นที่อย่างเหมาะสม ตลอดจนบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนถึงสถานการณ์น้ำให้ประชาชนรับรู้รับทราบอย่างต่อเนื่องและทั่วถึง เพื่อป้องกันและบรรเทาผลกระทบที่จะเกิดกับประชาชนให้ได้มากที่สุด ตามข้อสั่งการของ ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์