Newstimestory

อาสาสมัครอีสานรวมใจ ส่งเพชฌฆาต 100 ราย ช่วยชาวบ้านสมุทรปราการลงแขกลงคลองตัดวงจรระบาดปลาหมอคางดำ

วันศุกร์ที่ 23 สิงหาคม 2567 ณ บริเวณแหล่งน้ำพื้นที่ศูนย์ศึกษาธรรมชาติ กองทัพบกบางปู ตำบลบางปูใหม่ อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรปราการ อาสาสมัครจากจังหวัดร้อยเอ็ด จำนวน 100 ราย และจากเรือนจำกลางสมุทรปราการ จำนวน 35 ราย ลงพื้นที่ลุยกำจัดปลาหมอคางดำในกิจกรรม “ลงแขกลงคลองตัดวงจรการแพร่ระบาดปลาหมอคางดำเพื่อรักษาสมดุลระบบนิเวศจังหวัดสมุทรปราการ ครั้งที่ 2” ณ บริเวณแหล่งน้ำพื้นที่ศูนย์ศึกษาธรรมชาติ กองทัพบกบางปู ตำบลบางปูใหม่ อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรปราการ มี นายศุภมิตร ชิณศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการ เป็นประธานในพิธี นายสุวัฐน์ วงศ์สุวัฒน์ รองอธิบดีกรมประมง เข้าร่วมในกิจกรรม โดยวันนี้สามารถจับปลาหมอคางดำขึ้นมาได้ถึง 1,101 กิโลกรัม โดยหลังจากนี้จะนำปลาหมอคางดำไปทำปลาร้า เพื่อแจกจ่ายบริโภคในครัวเรือน นอกจากนี้ ในกิจกรรมดังกล่าวยังมีการรับมอบเครื่องมืออวนลากปลาเพื่อกำจัดปลาหมอคางดำ จำนวน 1 ชุด ซึ่งสนับสนุนโดย บริษัทเจริญโภคภัณฑ์ อาหาร จำกัด (มหาชน)

นายสุวัฐน์ วงศ์สุวัฒน์ รองอธิบดีกรมประมง ในฐานะโฆษกกรมประมง เปิดเผยว่า ปัจจุบันสถานการณ์การแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ กระจายไปในพื้นที่ 19 จังหวัด ได้แก่ จันทบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา สมุทรปราการ นนทบุรี กรุงเทพมหานคร นครปฐม ราชบุรี สมุทรสาคร สมุทรสงคราม เพชรบุรีประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช สงขลา ชลบุรี พัทลุง และปราจีนบุรี ซึ่งกรมประมงได้กำหนดแผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดปลาหมอคางดำ พ.ศ. 2567–2570 ไว้ 7 มาตรการ ซึ่งกิจกรรม “ลงแขกลงคลอง” เป็นหนึ่งในกิจกรรมภายใต้มาตรการที่ 1 คือ การควบคุมและกำจัดปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำทุกแห่งที่พบการแพร่ระบาด เพื่อขจัดประชากรปลาหมอคางดำออกจากแหล่งน้ำ ตั้งเป้าไว้ไม่น้อยกว่า 5,000 ตัน ซึ่งที่ผ่านมาทุกภาคส่วนได้ร่วมแรงร่วมใจช่วยกันกำจัดเพื่อหยุดวงจรการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำในหลากหลายวิธี จนกระทั่งขณะนี้ สามารถกำจัดปลาหมอคางดำออกจากแหล่งน้ำได้แล้วจำนวน 610,708.20 กิโลกรัม (ข้อมูล ตั้งแต่วันที่ 1-20 ส.ค.67)


โดยในส่วนของจังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งมีการระบาดของปลาหมอคางดำ ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2566 ในเขตพื้นที่อำเภอพระสมุทรเจดีย์ ส่งผลกรทบต่อระบบนิเวศและการประกอบอาชีพของพี่น้องชาวประมงและเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์น้ำ (แบบธรรมชาติ) เป็นอย่างมาก เนื่องจากจังหวัดสมุทรปราการ เป็นเมืองแห่งผลผลิตด้านประมง มีกำลังการผลิตสัตว์น้ำประเภทกุ้งทะเล สูงถึง 1,400 ตันต่อปี สร้างมูลค่า 210 ล้านบาท แต่เมื่อเกิดปัญหาการระบาดของปลาหมอคางดำ ส่งผลให้เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งทะเลแบบธรรมชาติมีผลผลิตกุ้งทะเลในบ่อเลี้ยงลดลงเป็นจำนวนมาก ทั้งนี้ ที่ผ่านมาจังหวัดสมุทรปราการ มีการจัดตั้งทีมเฉพาะกิจในการออกปฏิบัติการกำจัดปลาหมอคางดำ ประกอบด้วย กรมประมง อาสาสมัครจากหน่วยงานภาครัฐ และชุมชนท้องถิ่นในพื้นที่ที่มีการแพร่ระบาด ฯลฯ ส่งผลให้ในขณะนี้สถานการณ์การระบาดของปลาหมอคางดำลดจำนวนลงได้ แต่อย่างไรก็ตาม เพื่อเป็นการกำจัดให้ออกอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ปลาหมอคางดำสิ้นซากไป วันนี้ จังหวัดสมุทรปราการ จึงได้จัดกิจกรรม “ลงแขกลงคลองตัดวงจรการแพร่ระบาดปลาหมอคางดำเพื่อรักษาสมดุลระบบนิเวศจังหวัดสมุทรปราการ ครั้งที่ 2” ขึ้น ณ บริเวณแหล่งน้ำพื้นที่ศูนย์ศึกษาธรรมชาติ กองทัพบกบางปู ตำบลบางปูใหม่ อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรปราการ ทั้งนี้ นอกจากจะได้รับความร่วมแรงร่วมใจจากประชาชนในพื้นที่ 200 คน ที่มาช่วยกันลงแรงเพื่อจับปลาหมอคางดำแล้ว พี่น้องประชาชนจากจังหวัดร้อยเอ็ด จำนวน 100 ราย ยังได้อาสามาช่วยจับปลาหมอคางดำในครั้งนี้ด้วย นอกจากนี้ บริษัทเจริญโภคภัณฑ์ อาหาร จำกัด (มหาชน) ยังได้ส่งมอบเครื่องมืออวนลากปลาเพื่อกำจัดปลาหมอคางดำ จำนวน 1 ชุด ให้กับท่านผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการ เพื่อใช้ในกิจกรรมการกำจัดปลาหมอคางดำด้วย


จึงขอฝากประชาสัมพันธ์แจ้งให้ประชาชนทุกคนรับทราบโดยทั่วกัน เพื่อป้องกันเหตุการณ์กระทำความผิดโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ทั้งนี้ หากผู้ใดพบเห็นปลาหมอคางดำอยู่ในแหล่งน้ำภายนอกพื้นที่ที่มีการระบาด ขอให้รีบแจ้งมายังสำนักงานประมงจังหวัดในพื้นที่ 

ใหม่กว่า เก่ากว่า