วันนี้ (19 กรกฎาคม 2567 ) นายจำรัส สวนจันทร์ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานศรีสะเกษ ได้ประชุมข้าราชการและเจ้าหน้าที่เร่งด่วน เพื่อวางแผนในการช่วยเหลือราษฎรซึ่งอาจได้รับผลกระทบจากภาวะน้ำท่วมฉับพลัน ในพื้นที่บริเวณตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชา เนื่องจากที่ผ่านมามีฝนตกจำนวนมาก ทำให้ปริมาณน้ำไหลเข้าพื้นที่ของราษฎร และอ่างเก็บน้ำบริเวณตามแนวชายแดนไทยกัมพูชาเป็นจำนวนมาก ซึ่งปริมาณน้ำฝนสะสมในปี 2567 พบว่ามีปริมาณสูงกว่าปี 2566 และ ปริมาณน้ำฝนค่าเฉลี่ยรอบ 30 ปี
สำหรับปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำทั้ง 16 แห่งในเขตจังหวัดศรีสะเกษพบว่ามี อ่างเก็บน้ำ จำนวน 1 แห่ง ที่มีความจุ เกินเก็บกัก คือ อ่างเก็บน้ำห้วยขนุน อำเภอกันทรลักษ์ และมีอีก 2 แห่ง ที่มีปริมาณน้ำเกิน 70% และมีแนวโน้มสูงขึ้น เนื่องจากมีปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเป็นจำนวนมาก
และในช่วงบ่ายนายจำรัส สวนจันทร์ ผู้อำนวยการโครงการชล ประทานศรีสะเกษ ได้ลงสำรวจพื้นที่บริเวณลุ่มน้ำสายหลักของจังหวัดศรีสะเกษ ได้แก่ ลุ่มน้ำมูล ลุ่มน้ำห้วยสำราญ และลุ่มน้ำห้วยทับทัน พบว่าปริมาณน้ำในลุ่มน้ำดังกล่าว ยังมีปริมาณน้อย สามารถรองรับปริมาณน้ำได้อีกจำนวนมาก ซึ่งหากมีปริมาณน้ำมากขึ้นจะได้แจ้งเตือนราษฎรในโอกาสต่อไป
สำหรับการเตรียมการด้านการช่วยเหลือ ราษฎรที่ได้รับผลกระทบจากภาวะ น้ำท่วมนั้น โครงการชลประทานศรีสะเกษ ร่วมกับสำนักงานป้องกันบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดศรีสะเกษ ได้เตรียมพร้อมเครื่องสูบน้ำขนาดต่างๆไว้ด้วยแล้ว เพื่อช่วยเหลือราษฎร ที่ได้รับผลกระทบจากภาวะน้ำท่วม