วันนี้ (25 กรกฎาคม 2567) ณ บริเวณอ่างเก็บน้ำลำแชะ อำเภอครบุรี จังหวัดนครราชสีมากรมชลประทาน จัด"กิจกรรมปลูกป่า 4,072 กล้า ถวายองค์ราชา ปวงประชาร่วมใจต้านโลกร้อน เฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567" โดยมีนายสมเกียรติ วิริยะกุลนันท์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เป็นประธานในพิธีเปิด พร้อมด้วยผู้แทนกรมชลประทาน นายมหิทธิ์ วงศ์ษา ผู้อำนวยการส่วนสิ่งแวดล้อม สำนักบริหารโครงการ นายวิวัฒน์ ฐิติรัตนอัศว์ ผู้อำนวยการส่วนวิศวกรรม สํานักงานชลประทานที่ 8 นายพงศ์ฤทธิ์ ชื่นอารมณ์ ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำแชะ ผู้แทนหน่วยงานราชการ ภาคเอกชน ผู้นำชุมชน ประชาชนในพื้นที่ และคณะสื่อมวลชน รวมกว่า 300 คน ให้ความสนใจเข้าร่วมกิจกรรม
กรมชลประทาน จัดกิจกรรมดังกล่าวขึ้น เพื่อถวายความจงรักภักดีและสนองพระราชปณิธาน สืบสาน รักษา ต่อยอด ด้านการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรป่าไม้ โดยกิจกรรมภายในงานมีการมอบกล้าไม้แก่ตัวแทนผู้นำชุมชน และผู้แทนโรงเรียนบริเวณรอบอ่างเก็บน้ำลำแซะ ตลอดจนการจัดแสดงนิทรรศการภายใต้โครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย และเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนร่วมกันปลูกต้นไม้ จำนวน 4,072 ต้น ประกอบไปด้วยกล้าไม้ จำนวน 4 ชนิด ได้แก่ ยางนา มะค่าโมง ประดู่ป่า และพะยูง บริเวณพื้นที่หัวงานอ่างเก็บน้ำลำแชะ ประมาณ 20 ไร่ ทั้งนี้กล้าไม้ที่ใช้ในการปลูกครั้งนี้เจ้าหน้าที่โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำแชะได้ร่วมกันเพาะกล้าไม้ ภายในโครงการส่วนหนึ่ง และอีกส่วนหนึ่งได้รับการสนับสนุนต้นกล้าจากโครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรป่าไม้ในพื้นที่ห้วยโสมง จังหวัดปราจีนบุรี
อนึ่ง โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำแซะ ได้ดำเนินการปลูกป่า ควบคู่การปรับภูมิทัศน์ ฟื้นฟูป่าเสื่อมโทรม และเพิ่มพื้นที่สีเขียว ตั้งแต่ปี 2564 โดยวางแผนที่จะปลูกอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ กรมชลประทาน ยังมีแผนในอนาคตที่จะขยายพื้นที่ปลูกป่าให้เพิ่มมากยิ่งขึ้น โดยให้โครงการชลประทานที่ตั้งอยู่ในทุกภูมิภาคของประเทศ สำรวจพื้นที่สำหรับปลูกป่าเพิ่มเพื่อดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อย่างเป็นรูปธรรม เนื่องจากการปลูกป่าถือเป็นมาตรการหนึ่งที่สามารถช่วยป้องกันและลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ เพื่อร่วมขับเคลื่อนเป้าหมายการมีส่วนร่วมของประเทศในการลดก๊าซเรือนกระจก (Nationally Determined Contribution : NDC) ตามแผนปฏิบัติการด้านการเกษตรเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ.2566–2570 ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งสอดคล้องตามนโยบายของรัฐบาลในการบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี ค.ศ. 2050 และเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ได้ในปี ค.ศ. 2065