กรมหม่อนไหม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แถลงข่าวเตรียมพร้อมจัดงานใหญ่ "งานตรานกยูงพระราชทาน สืบสานตำนานไหมไทย" ครั้งที่ 19 ประจำปี 2567 อลังการนิทรรศการผ้าไหมไทย เรียนรู้เส้นทางอาชีพและนวัตกรรมหม่อนไหม พร้อมช้อปสินค้าผ้าไหมตรานกยูงพระราชทานอีกมากมายภายในงาน ระหว่างวันที่ 1 - 4 สิงหาคม 2567 ตั้งแต่เวลา 10.00 – 20.00 น. ณ ฮอลล์ 6-7 อิมแพ็ค เมืองทองธานี
วันนี้ (25 กรกฎาคม 2567) ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานแถลงข่าวการจัด "งานตรานกยูงพระราชทาน สืบสานตำนานไหมไทย" ครั้งที่ 19 ประจำปี 2567 ณ ห้องประชุม 115 โดยมี พันจ่าเอก ประเสริฐ มาลัย อธิบดีกรมหม่อนไหม เข้าร่วมแถลงข่าว พร้อมด้วยคณะผู้บริหารกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ คณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่กรมหม่อนไหม และแขกผู้มีเกียรติ เข้าร่วมงาน
ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า "งานตรานกยูงพระราชทาน สืบสานตำนานไหมไทย" ครั้งที่ 19 จัดขึ้นภายใต้แนวคิด “มหัศจรรย์หม่อนไหม ภูมิปัญญาผ้าไทย เทิดไท้องค์ราชัน” เพื่อเฉลิมพระเกียรติและน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี พันปีหลวง ที่ทรงสืบสานและทรงให้ความสำคัญกับผ้าไหมไทย และยังเป็นการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 6 รอบ 72 พรรษา ในวันที่ 28 กรกฎาคม 2567 รวมทั้งเป็นการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ผ้าไหมไทยคุณภาพ ผลิตภัณฑ์จากหม่อนและไหมของเกษตรกรให้ถึงมือผู้บริโภคโดยตรง อีกทั้งยังสนับสนุนให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ และเกษตรกรผู้ปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ช่วยกันสืบสานภูมิปัญญาต่อไป เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนเศรษฐกิจสินค้าภาคเกษตรให้เกษตรกรไทย ให้สามารถยกระดับรายได้เพิ่มขึ้น 3 เท่าใน 4 ปี
พันจ่าเอก ประเสริฐ มาลัย อธิบดีกรมหม่อนไหม เปิดเผยเพิ่มเติมว่า ภายในงานมีกิจกรรมต่างๆ ที่น่าสนใจมากมาย อาทิ นิทรรศการเฉลิมพระเกียรติฯ /นิทรรศการตรานกยูงพระราชทาน จัดแสดงผลงานการประกวดเส้นไหม ผ้าไหมตรานกยูงพระราชทาน และผลิตภัณฑ์หม่อนไหม ที่ได้รับรางวัลพระราชทาน ประจำปี 2567 /นิทรรศการ 72 หมู่บ้าน รวมใจปลูกหม่อนน้อมถวาย 72 พรรษา ทศมินทรราชา สืบสาน รักษา ต่อยอดสู่ 12 พรรณพฤกษาไทย สร้างสีสันบนผ้าไหม 21 ลายทรงเลือก / นิทรรศการเส้นทางสายไหม / นิทรรศการผลงานของกรมหม่อนไหมและหน่วยงานการบูรณาการ นิทรรศการทายาทหม่อนไหม และยังมีการออกร้านจำหน่ายผ้าไหมและผลิตภัณฑ์ไหมไทย และสินค้าหม่อนไหม จากทั่วประเทศ มากกว่า 230 ร้านค้า
สำหรับไฮไลท์สำคัญของการจัดงานในครั้งนี้ คือ “เส้นทางอาชีพหม่อนไหม” เป็นการจัดแสดงเส้นทางอาชีพด้านหม่อนไหมที่มีการต่อยอดไปสู่อาชีพอื่นๆ ได้แก่ อาชีพปลูกหม่อนเลี้ยงไหม นักออกแบบและตัดเย็บผ้าไหม ธุรกิจขายชาใบหม่อน การค้าดักแด้ไหม ผลิตภัณฑ์ความงามและเฟอร์นิเจอร์จากไหม การขายสีย้อมผ้า และ การทำคาเฟ่ (Silkberry Cafe) รวมทั้ง กิจกรรม Workshop การพิมพ์ลายกระเป๋าจากสีธรรมชาติ การทำเครื่องประดับจากเศษผ้าไหม
นอกจากนี้ ยังมีผลงานการบูรณาการ ที่ทางกรมหม่อนไหมได้ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ อาทิ
- นวัตกรรมการผลิตผ้าไหมเส้นไหมด้วยกราฟีนเพื่อใช้พัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ที่เพิ่มคุณสมบัติพิเศษให้แก่เส้นไหมและผ้าไหม ซึ่งนำมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์สินค้าต่างๆ เช่น เครื่องนุ่งห่ม สิ่งทอตกแต่งบ้าน มีคุณสมบัติพิเศษในรูปแบบที่แตกต่างกันตามสภาพอากาศ เช่น ช่วยให้เย็นสบายเมื่ออากาศร้อน และช่วยให้อบอุ่นเมื่ออากาศเย็น
- การนำไหมมาพัฒนาเป็นวัสดุทางการแพทย์ ช่วยผู้ป่วยที่ผ่าตัดมะเร็งเต้านม สำหรับเป็น "วิศวกรรมโครงร่างเต้านม" เพื่อใช้ฟื้นฟูเนื้อเยื่อเต้านมที่เกิดจากการผ่าตัดมะเร็งเต้านม และเสริมโครงสร้างเนื้อเยื่อบริเวณที่เกิดการยุบตัวเนื่องจากการผ่าตัด
- การพัฒนาการป้องกันกำจัดโรคแบคทีเรียในไหมหัตถกรรมด้วยสารสกัดจากพืช
- การจัดแสดงผลงาน “จากนักโทษ สู่นักทอ” การขยายผลต่อยอดโครงการพัฒนาผู้ต้องขังด้านการทอผ้าไหมสู่การประกอบอาชีพช่างทอผ้าไหมเมื่อพ้นโทษ
ภายในงาน ยังมีการจำหน่ายผ้าไหมและผลิตภัณฑ์อีกหลากหลายประเภทให้เลือกชมเลือกซื้อ เช่น ผ้าไหมตรานกยูงพระราชทาน ผ้าไหมอัตลักษณ์จากทั่วทุกภาคของประเทศไทย สินค้าแปรรูปต่างๆ จากหม่อนและไหม เช่น อาหาร ขนม เครื่องดื่ม เครื่องสำอาง เครื่องประดับ และของแต่งบ้าน ฯลฯ พร้อมกิจกรรมสาธิตและการแสดงต่างๆ ตลอดงาน