นางสาวปรียานุช ทิพยะวัฒน์ รองเลขาธิการสำนักงานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) เปิดเผยว่า ตามที่รัฐบาลมีนโยบาย “ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้” โดยมุ่งเน้นให้ทำการเกษตรตรงตามความต้องการของตลาดหรือผู้ซื้อเป็นหลักใช้นวัตกรรมเพิ่มศักยภาพในการจัดการผลิต และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีแผนขับเคลื่อนนโยบาย 1 ท้องถิ่น 1 สินค้าเกษตรมูลค่าสูง มีเป้าหมายเพื่อยกระดับรายได้ของเกษตรกรให้สูงขึ้น ซึ่งการเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรนั้นจำเป็นต้องอาศัยมาตรฐานซึ่งเป็นสิ่งบ่งบอกถึงคุณภาพและความปลอดภัยของสินค้า อีกทั้งเป็นเกณฑ์หรือบรรทัดฐานทางการค้าที่สำคัญทำให้ผู้ผลิตสินค้าได้สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภค
มกอช. ได้เล็งเห็นถึงศักยภาพของส้มโอขาวแตงกวาในการพัฒนาเป็นสินค้าเกษตรมูลค่าสูงของจังหวัดชัยนาท รวมถึงการสร้างความเชื่อมั่นในคุณภาพ มาตรฐาน และความปลอดภัยให้แก่ผู้บริโภค จึงจัดทำโครงการสร้างความเชื่อมั่นด้านคุณภาพ มาตรฐาน ความปลอดภัยสินค้าเกษตรในพื้นที่แปลงใหญ่สู่เกษตรมูลค่าสูง โดยสนับสนุนและส่งเสริมให้เกษตรกรผู้ปลูกส้มโอขาวแตงกวาของจังหวัดชัยนาทที่ผ่านการรับรองมาตรฐาน GAP แสดงเครื่องหมายรับรองมาตรฐานหรือสัญลักษณ์เครื่องหมาย Q เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคและนำระบบตามสอบสินค้า (QR-Trace on Cloud) มาให้เกษตรกรได้ใช้เป็นเครื่องมือในการสื่อสารข้อมูลแหล่งผลิต และสินค้าเกษตร เพื่อสร้างความมั่นใจในคุณภาพและความปลอดภัยให้แก่ผู้บริโภคมากยิ่งขึ้น
โดยมีการจัดกิจกรรมภายใต้โครงการดังกล่าว ได้แก่ การจัดแสดงนิทรรศการให้ความรู้ด้านมาตรฐาน GAP และสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ หรือสินค้า GI (Geographical Indication) ส้มโอขาวแตงกวา และมีการจัดเสวนาเพื่อจุดประกายทางความคิดในหัวข้อ “ส้มโอขาวแตงกวาชัยนาทสู่เกษตรมูลค่าสูง” โดยมีวิทยากรจากภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการ และเกษตรกรต้นแบบในจังหวัดชัยนาท พร้อมทั้งได้จัดพิธีมอบประกาศนียบัตรให้แก่ เกษตรกรที่ผ่านการฝึกอบรมการใช้งานระบบตามสอบสินค้า (QR-Trace on Cloud) ในส้มโอขาวแตงกวาพื้นที่แปลงใหญ่ ในอำเภอสรรคบุรี มโนรมย์ และอำเภอเมืองจังหวัดชัยนาท จำนวน 56 ราย
นอกจากนี้ มีกิจกรรมสาธิตการปรุงอาหาร “ยำส้มโอสูตรโบราณ” โดยใช้วัตถุดิบท้องถิ่นของจังหวัดชัยนาท อาทิ ส้มโอพันธุ์ขาวแตงกวา ที่มีคุณลักษณะเด่นคือ เนื้อส้มโอมีความกรอบและแห้งมีคุณค่าทางโภชนาการสูง เพื่อสนับสนุนและผลักดันส้มโอขาวแตงกวาชัยนาทให้เป็นที่รู้จัก ซึ่งสอดคล้องกับนโยบาย Soft Power ด้านอาหารที่รัฐบาลพยายามผลักดันให้อาหารไทยในการสร้างจุดขายให้กับประเทศและสร้างรายได้สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าอาหารไทย ตลอดจนวัตถุดิบสินค้าเกษตร ส่งผลให้กระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศเพิ่มขึ้น
“จากการดำเนินการดังกล่าว มกอช. มีความมุ่งมั่นที่จะยกระดับคุณภาพและความปลอดภัยของสินค้าเกษตร โดยขยายผลความสำเร็จของโครงการไปดำเนินการกับสินค้าเกษตรที่ได้มาตรฐานในพื้นที่จังหวัดอื่นต่อไป เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรได้นำเครื่องหมายรับรองมาตรฐานสัญลักษณ์ Q ที่แสดงถึงคุณภาพและความปลอดภัย ตลอดจนสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้บริโภคในการเลือกซื้อสินค้าเกษตรผ่านตราสัญลักษณ์ดังกล่าวอีกด้วย” รองเลขาธิการ มกอช. กล่าว