นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี ประธานคณะกรรมการอาหารแห่งชาติ กล่าวเปิดการประชุมว่า คณะกรรมการอาหารแห่งชาติ เป็นกลไกสำคัญหนึ่งที่ช่วยขับเคลื่อนให้นโยบายรัฐบาล IGNITE THAILAND จุดพลัง รวมใจ ไทยต้องเป็นหนึ่ง สามารถดำเนินการได้อย่างราบรื่น และมีประสิทธิภาพ ประสบผลสำเร็จ ยกระดับประเทศไทย สู่ศูนย์กลางเกษตรและอาหารของโลก และส่งเสริมให้เกษตรกรมีรายได้มากขึ้น 3 เท่า ใน 4 ปี
คณะกรรมการอาหารแห่งชาติ ได้มีมติเห็นชอบ (ร่าง) คำสั่งฯ แต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการด้านการจัดการด้านอาหารของประเทศไทยระดับจังหวัด และกลไกขับเคลื่อนการดำเนินงานของคณะกรรมการฯ ซึ่งมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานกรรมการ และภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเป็นกรรมการ ในการเสนอข้อคิดเห็นต่อการจัดทำแผนพัฒนาและบริหารจัดการด้านอาหาร โดยถ่ายทอดเป้าหมาย-ตัวชี้วัดของแผนปฏิบัติการด้านการจัดการด้านอาหารของประเทศไทย สู่การปฏิบัติระดับจังหวัดอย่างเป็นรูปธรรม บูรณาการการทำงานร่วมกัน ติดตามประเมินผล และรายงานผลการดำเนินงานต่อคณะกรรมการอาหารแห่งชาติ ทั้งนี้ มีเจตนารมณ์เพื่อให้มีศูนย์กลางการบริหารจัดการด้านอาหารในทุกมิติในพื้นที่ระดับจังหวัด เพื่อความมั่นคงทางอาหารและโภชนาการอย่างยั่งยืน นอกจากนี้ ได้เห็นชอบในหลักการให้กำหนดนิยาม “อาหารอนาคต” และ “ระบบการผลิตสินค้าเกษตรเพื่ออาหารในอนาคต” เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ตรงกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และใช้เป็นแนวทางกำหนดขอบเขตและจัดทำแผนงานการพัฒนาระบบเกษตรเพื่ออาหารในอนาคต ทั้งนี้ ให้ทบทวนและปรับนิยาม“อาหารอนาคต”และแนวทางการดำเนินงานให้มีความชัดเจนและเป็นรูปธรรมมากขึ้น โดยให้หารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี ประธานคณะกรรมการอาหารแห่งชาติ เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ร่วมกับสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) ผลักดันการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการด้านการจัดการด้านอาหารของประเทศไทย ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2566-2570) สู่การปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมในระดับจังหวัด เพื่อให้บรรลุ 6 เป้าหมาย 24 ตัวชี้วัด ภายใต้ยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคงอาหาร ยุทธศาสตร์ด้านคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร ยุทธศาสตร์ด้านอาหารศึกษา และยุทธศาสตร์ด้านการบริหารจัดการ และสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ “ประเทศไทยมีความมั่นคง ด้านอาหารและโภชนาการอย่างยั่งยืน เป็นแหล่งอาหารที่มีคุณภาพสูง ปลอดภัย มีคุณค่าทางโภชนาการ และผู้บริโภค มีพฤติกรรมการบริโภคที่เหมาะสม” และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals, SDGs) และกล่าวในตอนท้ายว่า เพื่อให้การดำเนินงานของคณะกรรมการอาหารแห่งชาติเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เกิดประสิทธิผล จึงขอให้ทุกหน่วยงานบูรณาการความร่วมมือและประสานการทำงานให้เป็นระบบ โดยยึดหลักให้ประเทศไทย “มีความมั่นคงด้านอาหารและโภชนาการอย่างยั่งยืน”