ทั้งนี้ ภาพรวมการเจรจา ทั้งสองฝ่ายได้ร่วมกันพิจารณาร่างข้อบท SPS และเห็นชอบเนื้อหาร่วมกันแล้วในหลายมาตรา โดยมุ่งเน้นการยกระดับความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศด้านการส่งออก-นำเข้าสินค้าเกษตรและอาหารผ่านการอำนวยความสะดวกทางการค้า ต่อยอดจากหลักการความตกลง SPS ภายใต้องค์การการค้าโลก (WTO+) การเสริมสร้างศักยภาพในการกำกับดูแลความปลอดภัยสินค้าเกษตรและอาหาร รวมทั้งเน้นย้ำให้มีกลไกในการปรึกษาหารือปัญหาด้านมาตรการ SPS ที่มีประสิทธิภาพระหว่างกัน เพื่อให้ข้อบท SPS เป็นประโยชน์ต่อไทยและสหภาพยุโรปมากที่สุด
นอกจากนี้ ผู้แทน มกอช. ยังได้เข้าร่วมการประชุมคู่ขนานร่วมกับผู้แทนสหภาพยุโรปจาก DG Trade เพื่อหารือระดับทวิภาคีในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับด้าน SPS และติดตามความคืบหน้าการเปิดตลาดสินค้าเกษตรและอาหาร การประชุมเจรจาจัดทำข้อบท SFS เพื่อการจัดการระบบอาหารอย่างยั่งยืน สร้างความมั่นคงอาหาร ลดการสูญเสียอาหาร อาหารขยะ และผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงหารือแนวทางการจัดทำความร่วมมือ อาทิ ด้านสวัสดิภาพสัตว์ การดื้อยาต้านจุลชีพ (Antimicrobial resistance: AMR) และการป้องกันอาหารปลอม (Food fraud) ตลอดห่วงโซ่อาหารเกษตร และการประชุมพิเศษเพื่อหารือเกี่ยวกับมาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรป (Carbon Border Adjustment: CBAM)
“อย่างไรก็ดี การเจรจาจัดทำ FTA ไทย- สหภาพยุโรป มีเป้าหมายเบื้องต้นที่จะสรุปผลภายใน 2 ปี โดยการเจรจารอบที่ 4 ไทยจะเป็นเจ้าภาพในเดือนพฤศจิกายน 2567 ณ กรุงเทพมหานคร” เลขาธิการ มกอช. กล่าว