Newstimestory

คันกั้นน้ำเหนือ-ท้ายฝายพญาโฮ้ง ลดการกัดเซาะตลิ่งคลองลายพัน จ.พัทลุง

จังหวัดพัทลุง เป็นหนึ่งในจังหวัดที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาน้ำป่าไหลหลากอยู่เป็นประจำ เนื่องจากอยู่ในอาณาเขตของเทือกเขาบรรทัด ในช่วงฤดูฝนหากมีปริมาณฝนตกสะสมติดต่อกันหลายวัน จะส่งผลให้เกิดน้ำป่าไหลบ่าลงสู่พื้นที่ราบลุ่มอย่างฉับพลัน สร้างความเสียหายให้กับประชาชนในหลายอำเภอ ถนนบางช่วงไม่สามารถสัญจรได้ พืชผลทางการเกษตรได้รับความเสียหาย โดยเฉพาะบริเวณคลองทรายขาวและคลองลายพัน คันคลองบางช่วงถูกน้ำกัดเซาะตลิ่ง ซึ่งมีแนวโน้มที่จะเกิดความเสียหายเพิ่มขึ้นทุกปี หากไม่ได้รับการแก้ไข

ในปี 2565 กรมชลประทาน ได้รับการร้องขอจากกำนันและผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่ตำบลคลองทรายขาวและตำบลชะรัด อำเภอกงหรา จังหวัดพัทลุง ขอให้กรมชลประทานพิจารณาแนวทางในการแก้ไขปัญหาน้ำกัดเซาะตลิ่งบริเวณคันคลองเหนือ-ท้ายฝายพญาโฮ้ง (คลองลายพัน) เนื่องจากสภาพพื้นที่บริเวณดังกล่าวมีลักษณะเป็นดินทรายและรกร้างมานาน ในช่วงฤดูน้ำหลากกระแสน้ำจะเอ่อล้นกัดเซาะตลิ่งด้านเหนือฝายพญาโฮ้ง ทำให้คันดินพังทลายน้ำไหลเข้าท่วมพื้นที่การเกษตรในเขตหมู่ที่ 5 ตำบลคลองทรายขาว และหมู่ที่ 6 ตำบลชะรัด กรมชลประทาน จึงได้ลงพื้นที่ไปสำรวจและพิจารณาโครงการเบื้องต้นโครงการปรับปรุงคันกั้นน้ำเหนือ-ท้ายฝายพญาโฮ้ง พร้อมประชาสัมพันธ์สร้างความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชนและเกษตรกรในพื้นที่ก่อนเริ่มดำเนินโครงการฯ 

ทั้งนี้ โครงการดังกล่าว มีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันอุทกภัยและน้ำเอ่อล้นตลิ่งคันคลองเข้าท่วมบ้านเรือนและพื้นที่การเกษตร อีกทั้งถนนริมคันคลองยังได้ใช้ประโยชน์ในการขนส่งผลผลิตทางการเกษตรและใช้สัญจรไปมาระหว่างหมู่บ้านใกล้เคียง โดยได้ดำเนินการก่อสร้างคันกั้นน้ำแบบดาดคอนกรีตทั้งฝั่งซ้ายและขวา พร้อมถนนเลียบคลองแบบหินคลุกบดอัดบริเวณคลองลายพันของทั้ง 2 ฝั่ง รวมระยะทาง 2.5 กิโลเมตร นอกจากนี้ ได้ก่อสร้างท่อระบายน้ำและอาคารประกอบอีก 4 แห่ง พร้อมซ่อมแซมหินก่อป้องกันการกัดเซาะบริเวณท้ายฝายพญาโฮ้ง ระยะทาง 1.2 กิโลเมตร ซึ่งดำเนินการแล้วเสร็จเมื่อช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2567 ที่ผ่านมา โดยไม่ได้มีการขุดลอกคลองเพิ่มเติมแต่อย่างใด เนื่องจากคลองเป็นดินทรายไม่เหมาะแก่การขุดลอก ส่วนที่ดินบริเวณรอบคันคลองที่ใช้ในการปรับปรุงคันกั้นน้ำ ได้มีการขออนุญาตจากเจ้าของที่ดินอย่างถูกต้อง พร้อมมีหนังสือยินยอมให้ใช้ที่ดินเพื่อสาธารณประโยชน์ตามระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง 

โดยหลังจากเสร็จสิ้นโครงการ กรมชลประทานโดยโครงการชลประทานพัทลุง จะดำเนินการปลูกต้นไม้ทดแทน พร้อมปลูกหญ้าแฝกบริเวณริมตลิ่งของแนวคันคลองในช่วงเดือนกรกฎาคม 2567 นี้ เพื่อฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมให้เกิดความอุดมสมบูรณ์บริเวณของทั้ง 2 ฝั่งคลอง นอกจากนี้ ได้พิจารณาวางแผนการก่อสร้างฝายชะลอน้ำเป็นช่วง ๆ เนื่องจากสภาพท้องคลองลายพันมีความลาดชัน ส่งผลให้การระบายน้ำได้อย่างรวดเร็ว จึงทำให้ไม่มีน้ำนอนคลอง หากมีฝายชะลอน้ำจะช่วยให้สามารถเก็บกักน้ำให้ประชาชนในพื้นที่ได้ใช้ประโยชน์ตามศักยภาพของพื้นที่ต่อไป 

ใหม่กว่า เก่ากว่า