วันที่ 24 เม.ย.67 มูลนิธิสถาบันวิจัยและปฏิบัติการสังคม ร่วมกับสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร สำนักงานขตธนบุรี สำนักงานเขตสวนหลวง สำนักงานเขตทุ่งครุ และ ผู้แทนจาก 60 ชุมชน ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) เรื่องการส่งเสริมการมีส่วนร่วมจัดบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคกลุ่มเปราะบางชุมชนเมือง โดยมีนางน้ำเพชร ตั้งยิ่งยง ผู้อำนวยการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เขต 13, นพ.ปรีดา แต้อารักษ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) และ นพ.สุทัศน์ โชตนะพันธ์ ผู้อำนวยการสถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง (สปคม.) กรมควบคุมโรค ร่วมเป็นสักขีพยาน ณ ห้องประชุมเฉลิมพระเกียรติ อาคาร 2 ชั้น 8 มหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรี
ดร.จำเนียร วรรัตน์ชัยพันธ์ ประธานมูลนิธิสถาบันวิจัยและปฏิบัติการสังคม กล่าวว่า ที่ผ่านมาการกระจายอำนาจในการรักษาไปสู่ท้องถิ่นยังคงกระจุกตัวอยู่ในหน่วยงานภาครัฐเป็นส่วนใหญ่ แต่หากเริ่มสร้างจุดแข็งให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการจัดการที่สร้างการมีส่วนร่วมพัฒนาระบบสุขภาพปฐมภูมิชุมชนโดยชุมชนเพื่อชุมชน ทั้งด้านข้อมูล สุขภาวะ องค์ความรู้เสริมในเชิงวิทยาศาสตร์ และเป็นผู้ที่ร่วมจัดการชุมชนในเชิงสุขภาพให้มีส่วนร่วมกับภาครัฐจะสร้างมิติใหม่ของการจัดการตัวเองได้ดีกว่าเดิม ที่สำคัญบุคลากรในท้องถิ่นก็จะมีความตระหนักในการดูแลสุขภาพตัวเองและคนรอบข้าง รวมถึงการเข้ามามีส่วนช่วยแพทย์ พยาบาล จะยิ่งช่วยลดกระบวนการทำงานให้ชุมชนมีองค์ความรู้พื้นฐานการช่วยเหลือพยาบาลและตรวจเบื้องต้น จากการพัฒนาคนในชุมชนให้เป็นจิตอาสาเพื่อเสริมแรงได้อีกทางหนึ่ง
สำหรับโครงการส่งเสริมการมีส่วนร่วมจัดบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคกลุ่มเปราะบางชุมชนเมือง มูลนิธิสถาบันวิจัยและปฏิบัติการสังคมมุ่งเน้นสนับสนุนส่งเสริมให้เกิดระบบบริการเฝ้าระวังภาวะสุขภาพประชาชนในชุมชน พัฒนาความรู้ด้านส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคไม่ติดต่อเรื้อรังอย่าง โรคไม่ติดต่อ (Noncommunicable diseases: NCDs) จึงก็คาดหวังในการพัฒนานวัตกรรมด้านกลไกการบริการส่งเสริมป้องกันโรค ไม่ติดต่อเรื้อรังในระดับชุมชนในรูปแบบปฐมภูมิชุมชน
“ซึ่งก่อนหน้านี้ก็มีการวางเป้าหมาย ประมาณ 6,000 ครอบครัว 18,000 คนในชุมชน 4 ประเภททั้งชุมชนขึ้นทะเบียนและชุมชนไม่ขึ้นทะเบียนกับ กทม. เช่น ชุมชนแออัด ชุมชนเมือง ชานเมือง บ้านจัดสรร อาคารสูง เพื่อยกระดับการขยายผลส่งเสริมป้องกันโรคจากระดับชุมชนสู่เขต พัฒนารูปแบบปฐมภูมิชุมชนเพื่อป้องกัน โรค NCDs กลุ่มเปราะบาง คัดกรอง ส่งเสริมความรู้ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมติดตามการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม ซึ่งในระบบบริการในชุมชนและการส่งต่อ ก็จะเห็นภาพการคัดกรองสุขภาพอาสาสมัครและ อสส. 18,000 คน ที่ไม่ซ้ำซ้อนกับ ศบส.และคลินิก ขณะที่การจัดระบบข้อมูลชุมชน ทั้งการส่งต่อข้อมูลผู้ป่วยเสี่ยงให้ ศบส.ในพื้นที่ 5,000 คน ทั้งนี้ยังมีการสร้างแรงจูงใจในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ให้ความรู้อาสาสมัครปฏิบัติ การผ่านโครงการย่อย เชื่อมกองทุนสุขภาพ การติดตามผลการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม โดยอาสาสมัคร ร่วมกับภาคีเครือข่ายในการทำงานสร้างเสริมสุขภาพที่ร่วมกัน MOU”
ด้าน นพ.อานนท์ กุลธรรมานุสรณ์ นักวิจัยระบบสุขภาพ สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ กล่าวว่า ในภาพใหญ่ของระบบสุขภาพ มีการบริการอยู่ 3 ระดับ คือ ระดับปฐมภูมิ ระดับทุติยภูมิ และระดับตติยภูมิ โดยการให้บริการระดับปฐมภูมิ คือ บริการสุขภาพขั้นพื้นฐานใกล้บ้านที่ทุกคนสามารถเข้าไปรับบริการได้ โดยไม่เพียงแต่แค่การรักษาพื้นฐาน แต่ยังครอบคลุมไปถึงการส่งเสริม ป้องกัน การคัดกรองโรคและฟื้นฟูสุขภาพ จริง ๆแล้ว การทำงานขององค์การอนามัยโลก หรือ WHO และประเทศสมาชิกต่าง ๆ ทั่วโลกมีเป้าหมายร่วมกันเพื่อให้ประชาชนมีสุขภาพดี ทั้งสุขภาพกาย ใจ และสังคมสุขภาวะ รวมทั้งการสร้างความเป็นธรรมด้านสุขภาพโดยเน้นการพัฒนาการบริการสุขภาพปฐมภูมิของประเทศไทยในบริบทสุขภาพโลกการป้องกันโรคการรักษาพยาบาลรวมไปถึงการฟื้นฟูสภาพของผู้ป่วย ระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิจึงเป็นวิธีการที่มีประสิทธิภาพที่สุดและสิ้นเปลืองทรัพยากรน้อยที่สุด ขณะที่เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน SDG ขององค์กรสหประชาชาติ ข้อที่ 3 คือ การมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี ดังนั้นการมีส่วนร่วมของชุมชนจึงเป็นจุดร่วมที่ดีที่จะช่วยให้บริหารสาธารณสุขและการเข้าถึงประชาชนอย่างเข้าใจมากขึ้น
นพ.ปรีดา แต้อารักษ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า ปฐมภูมิชุมชน ถือเป็นเครื่องมือที่จะสร้างการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ซึ่งเป็นเงื่อนไขสำคัญที่จะสร้างความเข้มแข็ง และการดูแลสุขภาพของทุกคน โดยโครงการส่งเสริมการมีส่วนร่วมจัดบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคกลุ่มเปราะบางชุมชนเมือง ทาง สช.ได้เข้าไปสนับสนุนเรื่องของวิชาการ และนโยบายความร่วมมือกัน ทำให้เกิดการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่างๆ โดยเฉพาะระบบบริการสาธารณสุข ที่สำคัญชุมชนจะต้องเป็นผู้ที่วางแผน และบริหารร่วมกัน เพื่อสร้างความรู้เรื่องการส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค มีการดำเนินกิจกรรมสำรวจข้อมูลสถานะสุขภาพของคนในชุมชน กลุ่มวัยต่างๆ สภาพแวดล้อม ก็จะทำให้เกิดข้อมูล และนำข้อมูลตรงนี้ไปวางแผนร่วมกัน หากพบใครมีภาวะสุขภาพไม่ดี ก็เกิดระบบการส่งต่อให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ การร่วมมือกันทำให้เกิดพลัง และนำไปสู่ความเข้มแข็งในอนาคต
“การมีส่วนร่วมจะช่วยสร้างปฐมภูมิชุมชนที่ยั่งยืน ที่สำคัญช่วยส่งผลดีต่อระบบสาธารณสุขของประเทศ ถ้าแต่ละชุมชนเข้มแข็ง คนในชุมชนสามารถดูแลตัวเองในเวลาที่เจ็บป่วยเล็กน้อยได้ด้วยตัวเอง ลดการพึ่งพาหน่วยบริการ ลดภาระงานของแพทย์ พยาบาล เพื่อเอาเวลาไปให้ความสำคัญกับโรคที่ยากๆ มากขึ้น อาทิ ชุมชนตรอกสะพานยาว ถือเป็นชุมชนต้นแบบที่คนในชุมชนมีส่วนร่วม แต่อย่างไรก็ตาม แต่ละชุมชนปัญหาแตกต่างกันไป สภาพชุมชน สิ่งแวดล้อม หรือโครงสร้างของชุมชน แต่สิ่งที่เรียนรู้ได้คือว่าร่วมมือ ทักษะ องค์ความรู้ต่างๆ ซึ่งตรงนี้ถ้าขยายผลไปใน 60 ชุมชนได้ดี สช.ก็มีแผนที่จะงานร่วมกับ กทม. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อ เพื่อขยายผลไปในชุมชนต่างๆ ทั่วกรุงเทพฯ”รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าว
ขณะที่นายวรพงษ์ พุ่มโกศล ตัวแทนชุมชนตรอกสะพานยาว เขตธนบุรี กล่าวว่า จากวิกฤติโควิที่ผ่านมา ชุมชนได้มีการดูแล ป้องกันโรคโควิด-19 กันเอง และได้เล็งเห็นความร่วมมือร่วมใจของชาวชุมชน จึงมีแนวคิดที่จะพลิกวิกฤติให้เป็นโอกาส โดยตั้งปฐมภูมิชุมชนเพื่อชุมชนขึ้น และได้ร่วมหารือมูลนิธิสถาบันวิจัยและปฏิบัติการสังคม เพื่อสร้างปฐมภูมิชุมชนที่เข้มแข็ง และยั่งยืน จึงได้ร่วมกันทำโครงการส่งเสริมการมีส่วนร่วมจัดบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคกลุ่มเปราะบางชุมชนเมือง โดยชุมชนจะมีหน้าที่ส่งเสริมให้เข้าถึงระบบสุขภาพในชุมชน สร้างการตระหนักรู้ในการดูแลสุขภาพ การตรวจคัดกรองโรค เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง และสุดท้ายจะมีการติดตามผลอยู่ตลอด ซึ่งการรู้เรื่องดูแลสุขภาพในเบื้องต้น จะช่วยให้คนในชุมชนมีสุขภาพที่ดีขึ้น ปลอดโรค และที่สำคัญลดผู้ป่วยเข้าระบบสาธารสุขน้อยลง และลดค่าใช้ใจให้กับภาครัฐ
“การร่วมลงนามในครั้งนี้ เพื่อให้หน่วยงานภาครัฐมาช่วยส่งเสริม และสนับสนุนทั้งการพัฒนาความรู้ระบบสุขภาพมากขึ้น งบประมาณ รวมทั้งการนำเทคโนโลยีมาช่วยการทำงานของชุมชน อย่างไรก็ตาม ปฐมภูมิชุมชน จะยั่งยืนได้ คนในชุมชนจะต้องเป็นคนลงมือทำ และเป้าหมายสำคัญเป็นการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีของคนในชุมชน” ตัวแทนชุมชนตรอกสะพานยาว กล่าว
ปัจจุบันกลุ่มโรค NCDs (Noncommunicable diseases หรือโรคไม่ติดต่อ) ยังคงเป็นปัญหาสุขภาพอันดับหนึ่งของโลก ขณะที่โรคไม่ติดต่อยังคงเป็นปัญหาสุขภาพอันดับหนึ่งของประชาชนไทยทั้งในแง่ภาระโรคและอัตราการเสียชีวิตอัตราการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร (30-69 ปี) จากโรคไม่ติดต่อที่ เช่นโรคหลอดเลือดสมอง, โรคหัวใจขาดเลือด, โรคเบาหวาน, ภาวะความดันโลหิตสูง และโรคทางเดินหายใจอุดกั้นเรื้อรัง มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ขณะที่ชุมชนเมืองอย่างกรุงเทพหมานครถือว่ามีกลุ่มเปราะบางค่อนข้างสูงในแง่การป้องกันโรคเพราะมีปัจจัยหลายด้านในการดำเนินชีวิตที่ค่อนข้างลำบาก การส่งเสริมการมีส่วนร่วมจัดการบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคกลุ่มเปราะบางชุมชนเมืองจึงมีความจำเป็นที่ต้องเร่งสร้าง การพัฒนาระบบสุขภาพปฐมภูมิชุมชนโดยชุมชนเพื่อชุมชน