นายสุพิศ พิทักษ์ธรรม อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร กล่าวว่า ปริมาณฝนรายเดือนและรายปีของประเทศไทย พ.ศ.2567 เปรียบเทียบกับค่าปกติ (พ.ศ.2534-2563) พบว่า ในพื้นที่ภาคใต้ เดือน มีนาคม – เดือนเมษายน มีปริมาณฝนสะสมอยู่ในเกณฑ์ต่ำกว่าค่าปกติ ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคใต้ จึงได้จัดทำแผนการป้องกันและแก้ปัญหาภัยแล้งและแผนบรรเทาปัญหาหมอกควันและไฟป่า โดยจะมีแผนการตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงในพื้นที่ภาคใต้ ได้แก่ หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงหัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ จ.สุราษฎร์ธานี จ.ชุมพร จ. สงขลา และ จ.กระบี่
จากการติดตามสถานการณ์น้ำในพื้นที่เพื่อประเมินผลและวางแผนการตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวง พบว่าในช่วงปลายเดือนมีนาคม 2567 ในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่างมีการขอรับบริการฝนหลวงมากขึ้น จึงได้สั่งการให้ดำเนินการจัดตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จ.สงขลา ตั้งแต่ วันที่ 12 มีนาคม 2567 โดยเครื่องบิน CARAVAN จำนวน 2 ลำ (ตั้งแต่ 12 มี.ค. 67) และเครื่องบิน BT จำนวน 1 ลำ (ตั้งแต่ 15 มี.ค. 67) เพื่อปฏิบัติการฝนหลวงให้ได้ปริมาณน้ำฝนครอบคลุมพื้นที่ที่มีการขอรับบริการอย่างเพียงพอ สำหรับศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคใต้ มีพื้นที่รับผิดชอบ จำนวน 11 จังหวัด ได้แก่ จ.สงขลา ตรัง พัทลุง กระบี่ นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี ภูเก็ต ระนอง ชุมพร ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี และ จ.ราชบุรี
- วันที่ 10 มีนาคม 2567 ปฏิบัติภารกิจ จำนวน 9 เที่ยวบิน ใช้น้ำรวมทั้งหมด 4,500 ลิตร
- วันที่ 11 มีนาคม 2567 ปฏิบัติการบิน จำนวน 18 เที่ยวบิน ใช้น้ำรวมทั้งหมด 9,000 ลิตร
- วันที่ 12 มีนาคม 2567 ปฏิบัติการบิน จำนวน 23 เที่ยวบิน ใช้น้ำรวมทั้งหมด 11,500 ลิตร
จากผลปฏิบัติการไฟได้ดับลงและกลุ่มควันน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด ทั้งนี้จะมีการติดตามสถานการณ์ไฟป่าและสถานการณ์น้ำในพื้นที่ภาคใต้อย่างใกล้ชิด เพื่อสามารถนำมาปรับแผนการตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรและพี่น้องประชาชนอย่างรวดเร็วต่อไป