Newstimestory

“ปลูกป่าลอยฟ้า” สสส. สานพลัง เทศบาลตำบลธาตุทอง จ.ชัยภูมิ และเครือข่าย ฟื้นฟูป่าภูหลง แหล่งต้นน้ำสำคัญ หวังแก้ปัญหาไฟป่า-มลพิษ-สุขภาพประชาชน

เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2567 ที่หน่วยพัฒนาและป้องกันป่าไม้ (ชย.7) อ.ภูเขียว จ.ชัยภูมิ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ เทศบาลตำบลธาตุทอง จ.ชัยภูมิ เครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ จัดกิจกรรมสัญจร “เยี่ยมภูหลง เดินลงป่า พาทำแนวกันไฟ รวมน้ำใจไทธาตุทอง” 


นายสมพร ใช้บางยาง ประธานเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า เครือข่ายทั้ง 8 แห่งพร้อมทั้งแม่ข่ายอย่างเทศบาลตำบลธาตุทอง ถือเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพ ทำงานเป็นระบบมีการกำหนด เป้าหมายและทิศทางชัดเจน ซึ่งเป็นที่น่าชื่นชม ขอให้ทุกคนเข้าใจการทำงานในลักษณะนี้ที่ใช้พื้นที่เป็นฐานในการพัฒนาด้วยการน้อมนำศาสตร์ของพระราชา “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” “ระเบิดจากข้างใน” “ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” เป็นเครื่องมือการทำงาน โดยมีเป้าหมายร่วมกัน คือ เกิดการสร้างเครือข่ายปกป้องฐานทรัพยากรที่มีอยู่ เพื่อจะได้ใช้ประโยชน์จากป่าร่วมกันอย่างยั่งยืน 


“อยากเห็นชุมชนท้องถิ่นใช้ต้นทุนทางสังคมในมิติต่างๆ มาร่วมกันพัฒนา ให้นำไปสู่การเสริมสร้างความเข้มแข็งในชุมชนได้แบบยั่งยืน ให้สามารถต่อสู้กับความเปลี่ยนแปลงหรือสิ่งกระทบที่เข้ามาได้อย่างไม่หวั่นไหว ซึ่งแนวคิดชุมชนท้องถิ่นเข้มแข็ง มั่นคง ยั่งยืนนี้ มิได้เกิดขึ้นเฉพาะในประเทศไทย แต่เป็นสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นและขับเคลื่อนกันระดับเวทีโลก” ประธานเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ กล่าว

ทพญ.จันทนา อึ้งชูศักดิ์ กรรมการบริหารแผน คณะที่ 3 และประธานกรรมการกำกับทิศทางของแผนสุขภาวะชุมชน พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สสส. กล่าวว่า ป่าภูหลงมีพื้นที่อุดมสมบูรณ์ ประกอบด้วย พันธุ์ไม้ป่านานาชนิด พืชสมุนไพร อาหารป่า สัตว์ป่า เกิดการบุกรุกป่า และปัญหาไฟป่าบ่อยครั้ง การลงพื้นที่ในครั้งนี้ เป็นส่วนหนึ่งของโครงการเสริมสร้างศักยภาพเครือข่ายชุมชนท้องถิ่นบริหารจัดการภูมินิเวศ มีเป้าหมายพัฒนาขีดความสามารถของเทศบาลตำบลธาตุทอง และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเครือข่าย ให้ใช้ทุนทางสังคม ด้วยการเสริมศักยภาพผู้นำ กลไก ให้เกิดเป็นวิธีการใหม่ๆที่เป็นนวัตกรรมในการบริหารจัดการทรัพยากร ให้เกิดการทำงานร่วมกัน 


โดย สสส. ได้เข้าไปสนับสนุนองค์ความรู้ เชื่อมร้อยท้องถิ่นเครือข่ายภูมิภาคเดียวกัน ในการทำงานดูแลทรัพยากรป่าภูหลง โดยจะเกิดผลลัพธ์ที่สำคัญ คือ เกิดอาสาสมัครจัดการไฟป่า ที่เชื่อมการทำงานร่วมกับหน่วยพิทักษ์ป่า พัฒนาแกนนำเด็ก และเยาวชนพิทักษ์ป่า เกิดเป็นชุมชนที่เข้มแข็ง ยั่งยืน


นายยุทธศาสตร์ วัชรธนาคม นายกเทศมนตรีตำบลธาตุทอง กล่าวว่า ท้องถิ่นมีบทบาทในการบริหารจัดการทรัพยากรป่าซึ่งเป็นไปตามอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายกำหนด และได้กำหนดเป็นนโยบายสาธารณะในการมุ่งหวังให้เกิดประโยชน์สุขแก่ประชาชนในการบริหารจัดการทรัพยากรป่าในเขตรับผิดชอบของตนเอง  โดยกำหนดกรอบการปฏิบัติในการดำเนินงานเป็น 4 มาตราการ อันได้แก่ มาตราการการป้องกันฯ เนื่องจากในช่วงฤดูแล้งที่มักจะเกิดไฟป่า เพิ่มขีดความสามารถด้านการป้องกันบรรเทาสาธารณภัย การรณรงค์ประชาสัมพันธ์ มาตราการการดูแลรักษาป่าด้วยการพัฒนาศักยภาพทีมอาสาเฝ้าระวังไฟป่า  ฝึกอบรมเครือข่ายผู้นำเด็กและเยาวชนในพื้นที่ ร่วมถึงการสร้างเครือข่ายการทำงานกับอปท.ข้างเคียงปลูกจิตสำนึกให้เด็กและเยาวชน ประชาชนให้ตระหนักถึงความสำคัญของคนอยู่ร่วมกับป่า ส่งเสริมสนับสนุนการฟื้นฟูและการอนุรักษ์ การปลูกป่าทดแทน การสร้างป่าเพิ่มพื้นที่สีเขียว การสร้างฝ่ายชะลอน้ำ และให้มีมาตราการการใช้ทรัพยากรจากป่ามาใช้อย่างเหมาะสม และมีการประกาศปิดป่าชั่วคราวเพื่อให้พื้นป่าได้สร้างระบบนิเวศตามธรรมชาติ และเป็นข้อกลางในการสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้คนอยู่กับป่าได้อย่างยั่งยืน


นายไพบูลย์ บุญโยธา รองปลัด และรักษาราชการปลัดเทศบาลตำบลธาตุทอง จ.ชัยภูมิ กล่าวว่า เทศบาลตำบลธาตุทอง มีป่าภูหลงเป็นผืนป่าสำคัญ ชาวบ้านในพื้นที่ใช้ประโยชน์เป็นแหล่งอาหาร เช่น เห็ด หน่อไม้ ไข่มดแดง และสามารถนำไปจำหน่ายสร้างรายได้ในครัวเรือน รวมถึงเป็นแหล่งน้ำทำการเกษตร โดยในปี 2559 เกิดไฟป่ารุนแรงบนเทือกเขาป่าภูหลง เกิดความเสียหายในพื้นที่ชุ่มน้ำกว่า 3,000 ไร่ ทำให้ภูมินิเวศของป่าเปลี่ยนแปลงไป สาเหตุหลักจากการลักลอบหาสัตว์ป่า รวมถึงจุดไฟเผาป่า ส่งผลกระทบกับชาวบ้านกว่า 500 ครัวเรือน แหล่งน้ำไม่เพียงพอ รวมถึงป่าชุมชน สวนทุเรียน สวนยาง ในพื้นที่ผลผลิตลดลง เกิดมลพิษทางอากาศ ฝุ่นละออง ควันไฟ ประชาชนในพื้นที่ได้รับผลกระทบ เช่น เกิดอากาศแสบตา คัดจมูก ไม่สามารถนำน้ำฝนมาใช้ในการอุปโภค บริโภคได้

“สสส. ได้เข้ามาเสริมการทำงานเครือข่ายระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยงานภาครัฐในพื้นที่ เช่น หน่วยพัฒนาและป้องกันป่าไม้ (ชย.7) หน่วยองค์กรชุมชน องค์กรศาสนา เช่น วัดป่ามหาวัน ซึ่งมีพระอาจารย์ไพศาล วิสาโล เป็นศูนย์รวมจิตใจในการขับเคลื่อน ในการจัดการจัดการและรักษาทรัพยากร โดยมีองค์กรพัฒนาเอกชนเข้ามาหนุนเสริมให้สามารถมุ่งเป้าไปที่การเสริมสร้างการพัฒนาทรัพยากรที่ยั่งยืน นายไพบูลย์ กล่าว


ดร.นิสา รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รักษาการผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน สสส. กล่าวว่า สสส. สนับสนุนให้มีการดำเนินงานโครงการฯ ผ่านกระบวนการในการสร้างการมีส่วนร่วม สร้างการเรียนรู้ และนำไปสู่การสร้างการเปลี่ยนแปลง ผ่านการจัดการทรัพยากร และฟื้นฟูป่าภูหลง โดยมองเห็นศักยภาพของเครือข่ายชุมชนท้องถิ่นที่มีทั้งต้นทุนทางทรัพยากร บุคคล ผู้นำ องค์ความรู้ และประสบการณ์ ที่ต้องการหนุนเสริมด้านการบูรณาการการทำงานในพื้นที่ จึงได้เข้าไปพัฒนา และยกระดับขีดความสามารถของเทศบาลตำบลธาตุทองให้เป็น “ศูนย์จัดการเครือข่ายสุขภาวะชุมชน” ในการขับเคลื่อนเครือข่าย พัฒนาระบบ และกลไกการจัดการพื้นที่สุขภาวะชุมชนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พัฒนาศักยภาพผู้นำ ให้สามารถแก้ไขปัญหา และจัดการความรู้ขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ และรณรงค์ เกี่ยวกับการเสริมสร้างสุขภาวะชุมชนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จึงเกิดเป็นรูปแบบการทำงานที่ใช้พลังในชุมชนที่มาจาก 4 องค์กรหลักร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่เข้ามาหนุนเสริมให้ชุมชนท้องถิ่นเข้มเข็ง จัดการตนเองได้

ใหม่กว่า เก่ากว่า