Newstimestory

น้ำหลากภาคใต้เริ่มเข้าสู่ภาวะปกติ เดินหน้าเก็บกักน้ำสำรองใช้แล้งหน้าให้มากที่สุด

วันนี้ (12 ธ.ค. 66) ที่ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ (SWOC) กรมชลประทาน ถนนสามเสน ดร.ทวีศักดิ์  ธนเดโชพล  รองอธิบดีกรมชลประทาน  เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ ผ่านระบบ Video Conference ไปยังสำนักงานชลประทานที่ 1-17  สำนักเครื่องจักรกล  และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมอุตุนิยมวิทยา สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ กรมทรัพยากรน้ำ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สำนักการระบายน้ำ (กรุงเทพมหานคร) และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) เป็นต้น เพื่อติดตามและวิเคราะห์สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำ แหล่งน้ำ และแม่น้ำสายหลักต่างๆ สำหรับเป็นข้อมูลในการบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องและเหมาะสมในแต่ละพื้นที่

สำหรับสถานการณ์น้ำปัจจุบัน (12 ธ.ค. 66) พบว่าอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้นประมาณ 60,638 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ79  ของความจุอ่างฯรวมกัน เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้นประมาณ 18,126 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 73 ของความจุอ่างฯรวมกัน กรมชลประทานได้วางแผนจัดสรรน้ำช่วงฤดูแล้งปี 2566/67 ตามปริมาณน้ำต้นทุนที่มี ด้วยการจัดสรรน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคเป็นหลัก  รักษาระบบนิเวศ  การเกษตร อุตสหกรรม และสำรองไว้ใช้ในต้นฤดูฝนหน้าตามลำดับ จนถึงขณะนี้มีการจัดสรรน้ำในช่วงฤดูแล้งทั้งประเทศไปแล้วกว่า 4,420  ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 21 ของแผนฯ  เฉพาะลุ่มเจ้าพระยามีการใช้น้ำไปแล้วประมาณ 990  ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 17 ของแผนฯ  ปัจจุบันทั้งประเทศมีการเพาะปลูกข้าวนาปรังไปแล้ว  1.61 ล้านไร่  หรือคิดเป็นร้อยละ 28  ของแผนฯ  เฉพาะลุ่มเจ้าพระยา  มีการเพาะปลูกข้าวนาปรังไปแล้ว 1.09  ล้านไร่  คิดเป็นร้อยละ 36 ของแผนฯ   ภาพรวมการบริหารจัดการน้ำ ยังคงเป็นไปตามแผนที่วางไว้  ด้านสถานการณ์ค่าความเค็มในแม่น้ำสายหลัก ยังอยู่ในเกณฑ์ควบคุม แต่ในช่วงกลางเดือนนี้ จะมีภาวะน้ำทะเลหนุนสูง ต้องเฝ้าระวังสถานการณ์อย่างใกล้ชิด


สำหรับพื้นที่ภาคใต้ ได้แก่ จังหวัดระนอง สุราษฎร์ธานี ชุมพร นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ที่ประสบปัญหาอุทกภัยในช่วงที่ผ่านมา ปัจจุบันสถานการณ์กลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว ประกอบกับปริมาณฝนจะเริ่มลดลงและใกล้เข้าสู่ฤดูแล้งของภาคใต้  จึงได้เน้นย้ำให้โครงการชลประทานในพื้นที่บริหารจัดการน้ำควบคู่ไปกับการเก็บกัก เพื่อสำรองน้ำไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้งให้ได้มากที่สุด พร้อมปฏิบัติตาม 9 มาตรการรองรับฤดูแล้ง ตามที่คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ(กนช.) เห็นชอบอย่างเคร่งครัด  ที่สำคัญให้ทำการประชาสัมพันธ์ถึงสถานการณ์น้ำให้ประชาชนได้รับทราบอย่างต่อเนื่องและทั่วถึง  เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำเป็นไปตามแผนที่วางไว้ เพียงพอใช้ตลอดช่วงฤดูแล้งนี้

ใหม่กว่า เก่ากว่า