นายเจษฎา ประภาสะวัต ผู้อำนวยการเขตบางซื่อ กล่าวว่า ประเพณีแห่เรือชักพระหลวงพ่อสัมฤทธิ์ ปี 2566 นี้ จะจัดขึ้นในวันที่ 1 ธันวาคม 2566 ตั้งแต่เวลา 07.00 น. โดยเส้นทางขบวนแห่ในปัจจุบัน จะเริ่มต้นจากการอัญเชิญหลวงพ่อสัมฤทธิ์ออกจากวิหาร นำไปขึ้นรถบุปผาชาติขบวนรถแห่ที่ตกแต่งด้วยมวลดอกไม้นานาพรรณอย่างสวยงามให้ประชาชนได้สักการบูชาไปตามถนนกรุงเทพ-นนทบุรี ถนนประชาราษฎร์ สาย 1 ถนนประชาชื่น แล้วอัญเชิญขึ้นประดิษฐาน ณ โรงเรียนราชนันทาจารย์ สามเสนวิทยาลัย 2 ถนนประชาชื่น เพื่อประกอบพิธีทางศาสนา จากนั้นอัญเชิญหลวงพ่อสัมฤทธิ์ลงขบวนแห่ทางเรือให้ประชาชนที่อาศัยบริเวณริมคลองร่วมทำบุญสักการบูชา ณ ท่าเรือโรงเรียนราชนันทาจารย์ สามเสนวิทยาลัย 2 ล่องไปตามคลองเปรมประชากร คลองบางเขน จนถึงวัดโพธิ์ทองล่าง จังหวัดนนทบุรี นายกเทศมนตรีนครนนทบุรีอัญเชิญหลวงพ่อขึ้นจากเรือ เพื่อทำพิธีทอดผ้าป่าสามัคคี ต่อจากนั้นขบวนเรือล่องกลับมายังเขตบางซื่อ ขึ้นที่ท่าน้ำวัดมัชฌันติการาม อัญเชิญหลวงพ่อประดิษฐานบนบุษบกรถบุปผาชาติ แห่ไปตามถนนวงศ์สว่าง ถนนกรุงเทพ-นนทบุรี จนถึงวัดเวตวัน ธรรมาวาส เพื่อประกอบพิธีทางศาสนาและสักการบูชาเพื่อความเป็นสิริมงคลต่อไป
ความเป็นมาหลวงพ่อสัมฤทธิ์ วัดเวตวันธรรมาวาส วัดเก่าแก่ที่สร้างในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้นไม่ปรากฏนามผู้สร้าง เดิมชื่อวัดเชิงหวาย (หมายเหตุ เซิง : ซ โซ่) วัดนี้ มีพระพุทธรูปเก่าแก่สมัยสุโขทัยคือ หลวงพ่อสัมฤทธิ์ เป็นพระพุทธรูปทองสัมฤทธิ์ ปางมารวิชัยหน้าตักกว้าง 7 นิ้ว เดิมองค์พระถูกฝังอยู่ ใต้พื้นดินด้านทิศเหนือของอุโบสถ เมื่อประมาณ 100 กว่าปี มีตำนานเล่าว่าท่านได้เข้าฝันชาวบ้านและกล่าวว่าหากมีความประสงค์จะให้บ้านเมืองร่มเย็นเป็นสุข ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บให้นำท่านขึ้นบูชา จึงมีการค้นหาและนำองค์ท่านขึ้นมาประดิษฐานไว้ที่วัด ยังมีความเชื่อว่าในครั้งที่ประเทศไทยต้องเผชิญกับการระบาดของกาฬโรค หรือ “โรคห่า” ครั้งยิ่งใหญ่ ซึ่งในกรุงเทพมหานครก็ได้เกิดการระบาดของโรคและ มีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก แต่ปาฏิหาริย์ของหลวงพ่อสัมฤทธิ์ประทานพรให้ประชาชนในพื้นที่ได้รอดพ้นจากโรคภัยไข้เจ็บดังกล่าว อีกทั้งในความศักดิ์สิทธิ์และความเลื่อมใสศรัทธาจึงเป็น 1 ใน 9 องค์พระ ที่ได้ถูกอัญเชิญมาประดิษฐานให้พุทธศาสนิกชนสักการบูชา เนื่องในเทศกาลวิสาขบูชาโลก ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง
ความเป็นมาประเพณีแห่เรือชักพระหลวงพ่อสัมฤทธิ์ มีมาตั้งแต่ครั้งขุดพบหลวงพ่อสัมฤทธิ์ กว่า 100 ปี และนำขึ้นประดิษฐานไว้ที่วัดเวตวันธรรมาวาส ซึ่งจัดขึ้นในวันแรก 4 ค่ำ เดือน 12 ของทุกปี เพื่อให้ประชาชนสักการบูชาอย่างทั่วถึง ในอดีตชาวบ้านจะจัดขบวนเรืออย่างน้อย 3 ลำ ประดับตกแต่งอย่างสวยงามเป็นเรือนำขบวน 1 ลำ เพื่อลากจูงเรือที่ประดิษฐานหลวงพ่อสัมฤทธิ์และเรือปิดท้ายขนาบอีกลำ อัญเชิญหลวงพ่อสัมฤทธิ์ลงเรือที่คลองกระดาษ ซึ่งอยู่ด้านหลังวัดเวตะวันธรรมาวาส ล่องออกแม่น้ำเจ้าพระยา เข้าคลองบางซื่อ ผ่านวัดประดู่ธรรมาธิปัตย์ เข้าคลองเปรมประชากร แวะพักที่วัดเสมียนนารีถวายภัตตหารเพลและทอดผ้าป่า จากนั้นไปยังวัดเทวสุนทร เข้าคลองบางเขน คลองบางเขนใหม่ ผ่านวัดมัชฌันติการาม ออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ถึงบริเวณสะพานพระราม 6 มีการแข่งเรือ แล้วกลับสู่ วัดเวตะวันธรรมาวาส ตลอดระยะทางที่ขบวนเรือผ่านมีประชาชนจำนวนมากออกมาสักการบูชาหลวงพ่อสัมฤทธิ์ด้วยข้าวตอกดอกไม้ และจตุปัจจัย แล้วขอพรจากท่าน พระสงฆ์ที่นั่งไปในเรือก็พรมน้ำพระพุทธมนต์ไปตลอดทาง ต่อมามีการสร้างเขื่อนกั้นน้ำในคลองต่าง ๆ รูปแบบและเส้นทางขบวนเรือได้เปลี่ยนแปลงไปชาวบ้านได้อัญเชิญหลวงพ่อสัมฤทธิ์แห่ขบวนเรือโดยสลับกับขบวนรถยนต์ “รถบุปผาชาติ”ซึ่งได้ประดับตกแต่งอย่างสวยงาม และจัดให้มีมหรสพสมโภชน์ภายในวัด