Newstimestory

“รองนายกฯ สมศักดิ์” เปิดงานบูรณาการสื่อสารแผนบริหารทรัพยากรน้ำลดเสี่ยง “เอลนีโญ” สร้างความร่วมมือทุกภาคส่วนป้องกันปัญหาขาดแคลนน้ำ

วันนี้ (6 พ.ย. 66) นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดงานบูรณาการสื่อสารแผนบริหารทรัพยากรน้ำลดเสี่ยงขาดแคลนน้ำจาก "เอลนีโญ" ประจำปี 2566 สร้างความตระหนักรู้และความร่วมมือจากทุกภาคส่วนลดผลกระทบจากสถานการณ์เอลนีโญ โดยมี ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) พร้อมด้วยผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมอุตุนิยมวิทยา สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) กรมชลประทาน กรมพัฒนาที่ดิน กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กรมป่าไม้ กรมทรัพยากรธรณี กรมทรัพยากรน้ำ เป็นต้น คณะกรรมการลุ่มน้ำ ผู้แทนองค์กรผู้ใช้น้ำภาคอุตสาหกรรม ผู้แทนผู้ใช้น้ำภาคเกษตรกรรม หน่วยงานเอกชนที่เกี่ยวข้อง นักเรียน นักศึกษา ประชาชน และสื่อมวลชนเข้าร่วมงาน ณ โรงแรมรามาการ์เด้นส์ ถ.วิภาวดีรังสิต กรุงเทพฯ และถ่ายทอดสดผ่านทาง Facebook Live สทนช.

รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า เป็นที่ทราบกันดีว่าในปีนี้และต่อเนื่องไปอีก 1-2 ปี มีแนวโน้มที่หลายพื้นที่ของประเทศไทยจะได้รับผลกระทบจากสถานการณ์เอลนีโญที่อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงขาดแคลนน้ำ ซึ่งถือเป็นความท้าทายของรัฐบาลในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำให้เกิดความสมดุล มีปริมาณน้ำเพียงพอสำหรับทุกกิจกรรมการใช้น้ำ เพื่อป้องกันและลดผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าวที่จะส่งผลโดยตรงต่อคุณภาพชีวิตของประชาชน โดยในช่วงฤดูฝนที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบ 12 มาตรการรับมือฤดูฝน โดยมีหลายมาตรการที่ใช้ขับเคลื่อนเพื่อรองรับสถานการณ์ในภาวะฝนทิ้งช่วงและฝนน้อยกว่าค่าปกติจากสถานการณ์เอลนีโญ เช่น การคาดการณ์ชี้เป้าพื้นที่เสี่ยง พร้อมจัดหาแหล่งน้ำสำรอง และเตรียมเครื่องจักร เครื่องมือเข้าช่วยเหลือ การกักเก็บน้ำในแหล่งน้ำ การติดตามประเมินผลโดยบูรณาการหน่วยงานในพื้นที่เข้าช่วยเหลือได้ทันสถานการณ์ เป็นต้น และต่อมา รัฐบาลยังได้เพิ่มเติมอีก 3 มาตรการในการรับมือเอลนีโญช่วงปลายฤดูฝน โดยจัดสรรน้ำให้เป็นไปตามลำดับความสำคัญที่คณะกรรมการลุ่มน้ำกำหนดควบคุมการเพาะปลูกข้าวนาปีต่อเนื่อง เพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำ ทั้งการใช้น้ำภาคการเกษตร วางแผนลดการใช้น้ำของหน่วยงานภาครัฐ รณรงค์การประหยัดน้ำของทุกภาคส่วน ส่งเสริมการใช้ระบบ 3R ของภาคอุตสาหกรรม รวมถึงลดการสูญเสียน้ำในระบบประปาและระบบชลประทาน ประกอบกับมีการบูรณาการความร่วมมือจากทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการวางแผนการบริหารจัดการน้ำระยะยาว 2 ปี ให้เป็นไปอย่างรอบคอบและเกิดประโยชน์สูงสุด มุ่งเน้นการกักเก็บน้ำต้นทุนให้เพียงพอจนถึงต้นฤดูแล้งในปีต่อไป โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ถือปฏิบัติตามมาตรการอย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันปัญหาการขาดแคลนน้ำในอนาคต

รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยต่อว่า ขณะนี้ตามปฏิทินการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ประเทศไทยได้สิ้นสุดฤดูฝนปี 2566 และเข้าสู่ฤดูแล้งปี 2566/67 แล้ว โดยจากการติดตามสถานการณ์น้ำต้นทุนในแหล่งน้ำต่าง ๆ พบว่า ปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์ดีขึ้นมาก อย่างไรก็ตาม รัฐบาลยังคงเดินหน้าบริหารจัดการทรัพยากรน้ำเพื่อรองรับสถานการณ์เอลนีโญอย่างต่อเนื่องโดยไม่ประมาท โดยในช่วงปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมา คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ มีมติเห็นชอบ 9 มาตรการรองรับฤดูแล้งปี 2566/67 และโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำเพื่อรองรับสถานการณ์ภัยแล้งและฝนทิ้งช่วง ปี 2567 เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งขับเคลื่อนการดำเนินการตามมาตรการ และจัดเตรียมแผนงานโครงการที่มีความจำเป็นเร่งด่วน เพื่อแก้ไขและบรรเทาปัญหาภัยแล้ง ส่งเสริมการสร้างอาชีพและรายได้ให้กับประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ภัยแล้ง รวมทั้งเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศ โดยการจัดกิจกรรมในวันนี้ มีเป้าหมายสำคัญในการสื่อสารเพื่อสร้างความตระหนักรู้และความเข้าใจที่ถูกต้องและชัดเจนเกี่ยวกับสถานการณ์น้ำของประเทศไทยภายใต้สถานการณ์เอลนีโญ ไปจนถึงการสร้างความเชื่อมั่นในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของภาครัฐ ซึ่งเป็นกุญแจสำคัญที่จะนำไปสู่ความร่วมมือร่วมใจของทุกภาคส่วนในการเตรียมพร้อมรับมือและก้าวข้ามผ่านสถานการณ์นี้ไปด้วยกัน


ด้าน ดร.สุรสีห์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ภายในงานวันนี้มีหลากหลายกิจกรรมสำคัญ โดย สทนช. และอีก 5 หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมพัฒนาที่ดิน กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืชกรมป่าไม้ กรมทรัพยากรธรณี กรมทรัพยากรน้ำ ได้ร่วมพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) “การอนุรักษ์ ฟื้นฟูระบบนิเวศ และป้องกันการชะล้างพังทลายของดินแบบบูรณาการ ภายใต้แผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี” เพื่อบูรณาการความร่วมมือในด้านต่าง ๆ ในการส่งเสริมประสิทธิภาพการอนุรักษ์และฟื้นฟูระบบนิเวศ รวมถึงร่วมขับเคลื่อนแผนบูรณาการเชิงพื้นที่ระดับลุ่มน้ำตามเป้าหมายการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี นอกจากนี้ ได้มีการจัดการเสวนา “ผ่าทางรอดประเทศไทย จับมือฝ่าวิกฤตภัย “เอลนีโญ”” เพื่อเป็นเวทีในการแลกเปลี่ยนข้อมูลและความคิดเห็นของผู้แทนจากแต่ละภาคส่วนในประเด็นต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์และสามารถนำไปปรับใช้ในการรับมือสถานการณ์เอลนีโญ รวมถึงการจัดนิทรรศการของ สทนช. ที่แสดงให้เห็นถึงสถานการณ์เอลนีโญในปัจจุบัน การวิเคราะห์คาดการณ์แนวโน้มในอนาคต ภาพการเตรียมพร้อมการรับมือสถานการณ์เอลนีโญของประเทศไทย และการบูรณาการการทำงานในด้านอนุรักษ์และฟื้นฟู ระหว่างหน่วยงานที่ได้มีการลงนาม MOU ร่วมกัน

“สทนช. ยังได้มีการมอบรางวัลให้กับผู้ชนะเลิศการประกวดคลิปสั้น และ TIKTOK รณรงค์ประหยัดน้ำ ซึ่งเป็นเครื่องมือสื่อสารที่ช่วยกระตุ้นให้เกิดความสนใจเกี่ยวกับสถานการณ์เอลนีโญและความร่วมมือในการใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า ซึ่งหากได้รับความร่วมมือจากประชาชนในการช่วยลดการสูญเสียปริมาณน้ำที่มีอยู่อย่างจำกัด โดยเริ่มต้นง่าย ๆ จากการดำเนินกิจวัตรประจำวัน ควบคู่ไปกับการดำเนินงานอย่างเข้มข้นของหน่วยงานภาครัฐ จะยิ่งช่วยผลักดันให้ภาพรวมของการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศไทยเพื่อรักษาปริมาณน้ำต้นทุนให้เพียงพอท่ามกลางสถานการณ์เอลนีโญเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ” เลขาธิการ สทนช. กล่าว

ใหม่กว่า เก่ากว่า