Newstimestory

“วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม” เปิดตัว “สยามเทคโน โพล” หนุนพัฒนางานวิชาการให้ทันสมัย เผยผลสำรวจ “เสียงประชาชนต่อเงินดิจิทัล” พบปชช.หนุนเดินหน้าต่อ แต่ห่วงกลุ่มคนชายแดน-ห่างไกลเทคโนโลยีเข้าถึงยาก

“วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม” เปิดตัว “สยามเทคโน โพล” หนุนพัฒนางานวิชาการให้ทันสมัย  เผยผลสำรวจ “เสียงประชาชนต่อเงินดิจิทัล” พบปชช.หนุนเดินหน้าต่อ แต่ห่วงกลุ่มคนชายแดน-ห่างไกลเทคโนโลยีเข้าถึงยาก ด้าน “นพดล กรรณิกา” ห่วงช่องโหว่ความปลอดภัยทางไซเบอร์ แนะใช้จ่ายด้วยบัตรประชาชนใบเดียว ช่วยกระจายความเสี่ยง ลดความเดือดร้อนปชช.

เมื่อวันที่ 19 ต.ค. 2566 ที่วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม สำนักวิจัยสยามเทคโนโพล วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม แถลงข่าวเปิดตัวสำนักวิจัยสยามเทคโนโพล และเสวนาหัวข้อ “เงินดิจิทัล เดินหน้าอย่างไร” โดย ผศ.ดร.พรพิสุทธิ์  มงคลวนิช อธิการบดี วิทยาลัย เทคโนโลยี สยาม และ ประธานคณะกรรมการ สำนักวิจัย สยามเทคโน โพล กล่าวเปิดตัว สำนักวิจัยสยามเทคโนโพล ว่าการตั้งสำนักวิจัย สยามเทคโน โพล ขึ้น เพื่อสนับสนุนภารกิจของสถาบันการศึกษาและสังคมโดยรวมในด้านวิทยาศาสตร์ข้อมูล (Data Science) และนวัตกรรมการทำวิจัยเพื่อพัฒนางานวิชาการประยุกต์ที่ทันและก้าวล้ำยุคสมัย โดยสำนักวิจัย สยามเทคโน โพล เป็นหน่วยงานหนึ่งของมหาวิทยาลัยที่ทำวิจัยพัฒนาข้อมูลจากภาคประชาชนและองค์กรภาครัฐ ภาคเอกชนในทุกประเด็นที่สำคัญของสังคม 

ผศ.ดร.พรพิสุทธิ์  กล่าวต่อว่า สำนักวิจัย สยามเทคโนโพล มีภารกิจทำสำรวจทั้งด้าน เศรษฐกิจ ธุรกิจ สังคม การเมือง วิทยาศาสตร์และนวัตกรรม ทั้งที่อยู่ในกระแสความสนใจของสังคมและที่สำนักวิจัยฯ ออกแบบโครงการสำรวจนำสังคมเพื่อนำผลการศึกษามาประกอบการพัฒนาองค์รวมในภารกิจบรรลุเป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ด้านการศึกษาของวิทยาลัยเทคโนโลยีสยามและสังคมโดยรวม

ทั้งนี้ คณะทำงานของสำนักวิจัย สยาม เทคโน โพล วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม ได้เสนอผลสำรวจ เรื่อง เสียงประชาชน ต่อเงินดิจิทัล กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนอายุ 16 ปีขึ้นไปในย่านฝั่งธนบุรีและต่างจังหวัด จำนวน 1,210 ตัวอย่าง ในการวิเคราะห์ทางสถิติ ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 12 - 17 ต.ค.2566 โดยมีค่าความคลาดเคลื่อนจากขนาดตัวอย่างบวกลบร้อยละ 5 ในช่วงความเชื่อมั่นร้อยละ 95 โดยเมื่อถาม ถึง กลุ่มคนได้ประโยชน์จากนโยบายแจกเงินดิจิทัลของรัฐบาล พบว่า เกินครึ่งหรือร้อยละ 51.27 ระบุ ประชาชนชาวบ้านทุกระดับรายได้ ตามเกณฑ์อายุที่กำหนด รองลงมาคือร้อยละ 48.28 ระบุ ชาวบ้านผู้มีรายได้น้อย ร้อยละ 43.22 ระบุ รัฐบาลได้คะแนนนิยมจากประชาชน ร้อยละ 38.70 ระบุ ร้านค้าโชว์ห่วย ร้านขายของชำ ร้อยละ 34.99 ระบุ กลุ่มทุนขนาดใหญ่ ของกินของใช้ ร้อยละ 34.72 ระบุ เศรษฐกิจชุมชน และร้อยละ 29.75 ระบุ ธุรกิจด้านเทคโนโลยี ออกแบบ เงินดิจิทัล

ที่น่าพิจารณาคือ ข้อกังวลของประชาชนต่อผลกระทบจาก มาตรการแจกเงินดิจิทัลของรัฐบาล พบว่า ร้อยละ 53.89 ระบุ ประชาชนผู้ยากไร้ ห่างไกล เทคโนโลยี ชายแดน ชายขอบ เข้าถึง เงินดิจิทัลยาก ร้อยละ 43.04 ระบุ การทุจริตเชิงนโยบาย คนเฉพาะกลุ่มได้ประโยชน์ ร้อยละ 41.95 ระบุ เกิดภาวะเงินเฟ้อ ข้าวของราคาแพง หน่วยงานรัฐ ควบคุมไม่ได้ ร้อยละ 40.69 ระบุ ประชาชน เสียวินัย การเงิน ขาดความรับผิดชอบ ร้อยละ 37.52 ระบุ การสวมสิทธิ์ กลุ่มประชาชนที่เข้าถึง เทคโนโลยี ได้ยาก ร้อยละ 33.27 ระบุ ความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศชาติโดยรวมได้รับความเสียหาย ร้อยละ 32.19 ระบุ คนเสียภาษี ผู้จ่ายภาษี ได้รับผลกระทบ และร้อยละ 27.22 ระบุ ประเทศไทยสูญเสียโอกาส พัฒนาที่ยั่งยืน

ที่น่าสนใจคือ ความคิดเห็นของประชาชนต่อ คำถามที่ว่า รัฐบาลควรทบทวนปรับปรุง หรือ เดินหน้าต่อ นโยบายแจกเงินดิจิทัล ผลสำรวจพบว่า ร้อยละ 40.78 ระบุ เดินหน้าต่อ ไม่ต้องปรับปรุงอะไร ในขณะที่ ร้อยละ 32.82 ระบุ เดินหน้าต่อ แต่ควรปรับปรุง และร้อยละ 26.40 ไม่มีความเห็น

ด้าน ผศ.ดร.นพดล กรรณิกา ที่ปรึกษาและอาจารย์หลักสูตรความปลอดภัยทางไซเบอร์และในฐานะศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยจอร์ชทาวน์ วอชิงตัน ดีซี สหรัฐอเมริกา ด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ กล่าวสนับสนุนนโยบายแจกเงินดิจิทัลของรัฐบาลในแง่ของการกระจายทรัพยากรครอบคลุมประชาชนอย่างทั่วถึงแต่มีข้อเท็จจริงที่น่าพิจารณาคือ ประชากรชายขอบตามแนวชายแดนใน 31 จังหวัดและพื้นที่อับเทคโนโลยีอย่างน้อย 6 ล้านคนมูลค่าไม่ต่ำกว่า 6 หมื่นล้านบาทที่ควรได้รับการออกแบบให้ครอบคลุมประชาชนกลุ่มนี้

“แต่ที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่งคือ จุดอ่อนที่นำไปสู่ช่องโหว่ ภัยคุกคาม ต่อนโยบายแจกเงินดิจิทัล โดยพบว่าจุดอ่อนที่สุดในโลกไซเบอร์คือตัวอุปกรณ์และความตระหนักรู้ด้านเทคโนโลยีและความปลอดภัยทางไซเบอร์ที่จำกัดของประชาชนชาวบ้านทั่วไป อุปกรณ์มือถือคุณภาพต่ำที่ไม่มีการป้องกันระบบความปลอดภัยทางไซเบอร์เพียงพอ ทำให้อุปกรณ์ของประชาชนหลายสิบล้านเครื่องอาจจะถูกยึดครอง (Hijack)โดยขบวนการมิจฉาชีพในโลกไซเบอร์ ด้วยการฝังเฟิร์มแวร์และอื่น ๆ สามารถยึดครองอุปกรณ์หลายสิบล้านเครื่องของประชาชนได้อาจส่งผลทำให้เกิดภัยคุกคามต่อระบบกระเป๋าเงินดิจิทัลของรัฐบาลจนไม่สามารถทำงานบริการต่อประชาชนได้ที่เรียกกันว่า DDOS โดยภายในตัวบล็อกเชน (Blockchain) มีความปลอดภัยสูงอาจจะโจมตียากแต่ก็โจมตีได้เพราะบล็อกเชนไม่สามารถเป็นอยู่โดยอิสระเมื่อมีการเชื่อมต่อย่อมมีช่องโหว่และภัยคุกคามเกิดขึ้นได้” ผศ.ดร.นพดล กล่าว

ที่ปรึกษาและอาจารย์ด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม กล่าวต่อว่า แนวทางป้องกันแก้ไขคือ การใช้บัตรประชาชนใบเดียวในการใช้จ่ายเงินดิจิทัลของรัฐบาล มีผลดีอย่างน้อย 2 มิติคือ มิติด้านโอกาสของรัฐบาลจะทราบข้อเท็จจริงการจับจ่ายใช้สอยของประชาชน นำข้อมูลมาออกแบบเสริมสร้างความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจของประเทศได้ และมิติความปลอดภัยทางไซเบอร์จะเกิดขึ้นเพราะมีการถ่ายโอนความเสี่ยง (Risk Transfer) จากอุปกรณ์คุณภาพต่ำของประชาชนทั่วไปไปยังหน่วยงานรัฐ องค์กรผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ สถาบันการเงิน การธนาคารและผู้ประกอบการที่มีศักยภาพสูงกว่า รัฐบาลก็จะบรรลุเป้าหมายการลดความเดือดร้อนของประชาชน เพิ่มคะแนนนิยม และความมั่นคงของชาติ ความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจ สังคม 

ใหม่กว่า เก่ากว่า