สันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทยร่วมกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ริเริ่มจัดกิจกรรมหารือกับขบวนการสหกรณ์เพื่อส่งเสริมการออมของสหกรณ์และการแก้ไขปัญหาหนี้สินของสหกรณ์และสมาชิกโดยมีสหกรณ์ภาคการเกษตรทั้งในภาคและนอกภาคการเกษตร เข้าร่วมหารือ
โดยเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2566 ณ ห้องประชุมรัชนี 4 ศูนย์การประชุมรัชนีแจ่มจรัส สันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย นายปรเมศวร์ อินทรชุมนุม ประธานกรรมการดำเนินการ สันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย (สสท.) เปิดการประชุมการหารือร่วม 3 ฝ่าย ระหว่าง สันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย สหกรณ์ภาคการเกษตร(ชมรมสหกรณ์การเกษตรภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เครือข่ายสหกรณ์นิคม 13 นิคม 14 ป่า) กับ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) โดยนายวรนันท์ ทวีรัตน์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายสินเชื่อ สถาบันและผู้ประกอบการ ธ.ก.ส. พร้อมด้วย นายสมหมาย กาพล กรรมการ สสท. นายจรัล เอี่ยมสำอางค์ กรรมการ สสท. นายปัณฐวิชญ์ มุ่งสมัครศรีกุล ผู้อำนวยการ สสท. นางบริสุทธิ์ เปรมประพันธ์ ที่ปรึกษา สสท. นายศิริชัย จันทร์นาค ที่ปรึกษา สสท. และนายสมพล ตันติสันติสม ที่ปรึกษา สสท. เข้าร่วมหารือ เพื่อสรุปประเด็นปัญหาของสหกรณ์ภาคการเกษตร เช่น ปัญหาการหาแหล่งเงินทุนต้นทุนต่ำเพื่อดำเนินกิจการของสหกรณ์ ปัญหาสมาชิกสหกรณ์ไม่ได้รับการพักชำระหนี้ตามโครงการพักชำระหนี้ของเกษตรกร ปัญหาผลกระทบจากการออกระเบียบของนายทะเบียนสหกรณ์ เป็นต้น รวมทั้งพิจารณาข้อเสนอและหาข้อสรุปร่วมระหว่างสหกรณ์ภาคการเกษตร กับ ธ.ก.ส. เพื่อสันนิบาตสหกรณ์ฯ จะได้ดำเนินการยื่นเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ต่อไป
นายปรเมศวร์ อินทรชุมนุม ประธานฯ สันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า หากรัฐบาลมีนโยบายพักชำระหนี้ ทำไมจึงไม่รวมสหกรณ์ไปด้วย ซึ่งสหกรณ์ถือเป็นเศรษฐกิจฐานราก ที่รวมเกษตรกรทั้งหมดไว้ทั่วประเทศ เพราะสหกรณ์ก็เป็นตัวแทนที่สามารถทำหน้าที่เทียบเคียงกับ ธ.ก.ส.ได้ ซึ่งการประชุมในวันนี้หากสรุปได้ผลเป็นอย่างไร สสท.จะทำหนังสือข้อสรุปแล้วส่งไปที่นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และผู้ที่เกี่ยวข้อง สสท. ขอรับรองว่า จะขับเคลื่อนเพื่อแก้ปัญหา โดยส่งไม้ต่อไปที่ ธ.ก.ส. ให้รับทราบ และจะเป็นหัวหอกในการเจรจา ส่งผ่านไปยังรัฐบาล เพื่อขอให้มีนโยบายช่วยเหลือเกษตรกร โดยต้องไม่ข้ามสหกรณ์ไป
นายปัณฐวิชญ์ มุ่งสมัครศรีกุล ผู้อำนวยการ สสท. กล่าวว่า นโยบายเรื่องการพักชำระหนี้ต้องชัดเจน แต่ในส่วนของสหกรณ์กลับไม่ได้รับอานิสงส์ ซึ่ง สสท.ไม่ได้นิ่งนอนใจ จะส่งหนังสือติดตามเรื่องดังกล่าวไปยังผู้ที่เกี่ยวข้อง วันนี้ นับเป็นเรื่องที่ดีเป็นการริเริ่มสิ่งใหม่ในการตกผลึก ช่วยเหลือ รับฟัง แก้ไขปัญหา ซึ่ง สสท.จะทำหน้าที่เป็นตัวกลาง จัดประชุมเพื่อร่วมกันกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และวันนี้ขอขอบคุณ สหกรณ์ทุกสหกรณ์ ทั้งสหกรณ์ในภาคเกษตรและนอกภาคการเกษตร ชมรมสหกรณ์การเกษตรตะวันออกเฉียงเหนือ เครือข่ายสหกรณ์นิคม 13 นิคม 14 ป่า และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร
ในส่วนผู้แทนของสหกรณ์นิคม ได้เสนอในที่ประชุมว่า อยากได้แนวทางการพักชำระหนี้ของสหกรณ์ที่ชัดเจน อยากให้ทาง ธ.ก.ส. ช่วยชี้แจงแนวทางให้เหมือนกับการพักชำระหนี้ของเกษตรกร น่าจะกำหนดแนวทางมาเพื่อให้ทางสหกรณ์บริหารจัดการได้ เพราะถ้าแนวทางของภาครัฐหรือ ธ.ก.ส.ไม่ออกมา สหกรณ์เองคงทำงานยากขึ้น มิเช่นนั้น จะเกิดหายนะครั้งใหญ่เฉกเช่นเดียวกับรัฐบาลชุดที่ผ่านมา ที่มีโครงการพักชำระหนี้ ซึ่งสหกรณ์ต้องย่ำแย่หลายสหกรณ์ เพราะเมื่อ ธ.ก.ส.พักชำระหนี้ สหกรณ์ไม่ได้โดนพักชำระหนี้ด้วย จึงกลายเป็นว่าเกษตรกรแจ้งกับสหกรณ์ว่า จะไม่ส่งชำระหนี้สหกรณ์เช่นกัน ปีนั้นจึงเป็นปีที่สหกรณ์แบกรับความเสียหายมหาศาล เมื่อสหกรณ์ไม่สามารถพักชำระหนี้ได้ ดอกเบี้ย ธ.ก.ส.จึงเพิ่มขึ้น จึงอยากให้ภาครัฐช่วยเหลือสหกรณ์ อีกเรื่องหนึ่งที่อยากจะฝาก ธ.ก.ส. คือเรื่องการจัดการด้านเงินกู้ อยากให้ ธ.ก.ส. คิดแพ็คเกจที่เหมาะสมกับสหกรณ์ กำหนดนโยบายตามแต่ละพื้นที่นั้นๆ เนื่องจากฤดูกาลเพาะปลูกแต่ละพื้นที่ไม่เหมือนกัน
นายศิริชัย จันทร์นาค ที่ปรึกษา สสท.กล่าวว่า ประเด็นเรื่องพักชำระหนี้ของ ธ.ก.ส. ตนขอฝากทางผู้แทนของ ธ.ก.ส.ที่เข้าประชุมในครั้งนี้ ว่าจะต้องไปเพิ่มเติมคือขอให้นโยบายพักชำระหนี้ต้องครอบคลุมสมาชิกของ ธ.ก.ส. เพราะอย่าลืมว่าชื่อท้ายของ ธ.ก.ส.คือคำว่า “สหกรณ์การเกษตร” จึงอยากฝากไปนำเสนอ โดยผ่านทางสสท. ว่าในส่วนของสหกรณ์ที่เป็นหนี้ ธ.ก.ส. หากรัฐบาลต้องการจะให้ครอบคลุมในส่วนนี้ ก็อย่าให้ตกหล่นในส่วนของสหกรณ์ด้วย ในด้านการกู้เงินจาก ธ.ก.ส. สหกรณ์ใดที่กู้เงิน โดยมีวัตถุประสงค์นำเงินกู้ไปเป็นทุนให้สมาชิกกู้ ควรได้รับการพักชำระหนี้และลดดอกเบี้ย อยากฝากถึง ธ.ก.ส.ว่าตรงนี้สมาชิกสหกรณ์โดยผู้แทนของสหกรณ์ร้องขอมา เนื่องจากไม่ได้รับความเสมอภาค เพราะคำว่าช่วยเหลือเกษตรกร ใช้ได้เฉพาะกับสมาชิกของ ธ.ก.ส.เท่านั้น