วันนี้ (2 ต.ค.66) ที่ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ (SWOC) กรมชลประทาน ถนนสามเสน ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ ผ่านระบบ Video Conference ไปยังสำนักงานชลประทานที่ 1-17 และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมอุตุนิยมวิทยา สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ กรมทรัพยากรน้ำ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สำนักการระบายน้ำ (กรุงเทพมหานคร) และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) เป็นต้น เพื่อติดตามและวิเคราะห์สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำ แหล่งน้ำ และแม่น้ำสายหลักต่าง ๆ สำหรับเป็นข้อมูลในการบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องและเหมาะสมในแต่ละพื้นที่
ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ปัจจุบัน ( 2 ต.ค.66) อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกัน 52,290 ล้าน ลบ.ม. (68% ของความจุอ่างฯ รวมกัน) เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 13,617 ล้าน ลบ.ม. (55% ของความจุอ่างฯ รวมกัน)
ด้านสถานการณ์น้ำในแม่น้ำสายหลัก หลังจากที่มีฝนตกหนักต่อเนื่องในพื้นที่ตอนบนของประเทศ ส่งผลให้ปริมาณน้ำในแม่น้ำยมเพิ่มสูงขึ้น ปัจจุบัน(2 ต.ค. 66) เวลา 06.00น. ที่สถานีวัดน้ำ Y37 อ.วังชิ้น จ.แพร่ มีปริมาณน้ำไหลผ่านในอัตรา 1,030 ลบ.ม./วินาที ส่งผลให้มีปริมาณน้ำไหลผ่านที่สถานีวัดน้ำ Y.14A อ.ศรีสัชนาลัย จ.สุโขทัย ในอัตรา 1,265 ลบ.ม./วินาที กรมชลประทานได้ใช้ประตูระบายน้ำ(ปตร.)แม่น้ำยม(บ้านหาดสะพานจันทร์)ในการหน่วงน้ำไว้ด้านเหนือปตร. เพื่อลดผลกระทบน้ำหลากบริเวณพื้นที่เศรษฐกิจและตัวเมืองสุโขทัย มีการจัดจราจรน้ำด้วยการผันน้ำเข้าระบบชลประทานทั้ง 2 ฝั่งของแม่น้ำยม ไปเก็บไว้ในพื้นที่แก้มลิง อาทิ ทุ่งบางระกำ เพื่อเก็บกักน้ำไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้งหน้า ตามแผนการบริหารจัดการน้ำ รวมทั้งช่วยหน่วงน้ำ ไม่ให้ไหลลงมากระทบต่อพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยาตอนล่าง ในขณะที่สถานีวัดน้ำ Y.4 อ.เมืองสุโขทัย มีปริมาณน้ำไหลผ่านในอัตรา 447 ลบ.ม./วินาที สถานการณ์น้ำยังอยู่เกณฑ์ควบคุม และไม่ส่งผลกระทบต่อตัวเมืองสุโขทัย แต่ยังคงต้องเฝ้าระวัง เนื่องจากยังคงมีร่องมรสุมพาดผ่านประเทศไทย
ด้านสถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำชี-มูล เนื่องจากมีปริมาณฝนเพิ่ม ทำให้ลุ่มน้ำชีตอนบนมีปริมาณน้ำเพิ่มขึ้น กรมชลประทาน ได้ใช้เขื่อนทดน้ำต่างๆ ในแม่น้ำชีและลำน้ำสาขา เร่งระบายน้ำลงสู่แม่น้ำมูล เพื่อลดผลกระทบในพื้นที่ โดยที่สถานีวัดน้ำ M.7 ระดับน้ำในแม่น้ำมูลมีแนวโน้มทรงตัว การระบายน้ำลงสู่แม่น้ำโขง ยังทำได้ดี ทั้งนี้ ยังคงต้องเฝ้าระวังปริมาณน้ำที่จะไหลลงมาจากลุ่มน้ำชีตอนบน ในอีกประมาณ 5-6 วันข้างหน้า
ทั้งนี้ ได้สั่งการให้โครงการชลประทานในพื้นที่ที่ยังมีปริมาณฝนตกอยู่ เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำและสภาพอากาศอย่างใกล้ชิด พร้อมบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งเข้าช่วยเหลือประชาชนให้กลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติโดยเร็ว บริหารจัดการน้ำในลุ่มน้ำต่างๆ โดยจัดจราจรน้ำให้สอดคล้องเชื่อมโยงกัน ให้ระบายน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ ที่สำคัญให้ทำการประชาสัมพันธ์ถึงสถานการณ์น้ำให้ประชาชนได้รับทราบอย่างต่อเนื่อง เพื่อบรรเทาผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นให้มากที่สุด ตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์