กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงได้ดำเนินโครงการรักษ์น้ำเพื่อพระแม่ของแผ่นดิน ในลักษณะการดำเนินการแบบบูรณาการ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม สร้างความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และชุมชน จึงได้รวมกลุ่มเกษตรกร เริ่มดำเนินกิจกรรมมาตั้งแต่ปี 2558 และได้มีการจดทะเบียนจัดตั้งเป็น “วิสาหกิจชุมชนกลุ่มเกษตรอินทรีย์รักษ์น้ำลุ่มน้ำภาค” เมื่อปี 2562 เริ่มแรกมีสมาชิกทั้งหมด 11 คน โรงเรือน 37 โรงเรือน และวางแผนการผลิตผักอินทรีย์ ตามมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ โดยยึดแนวทาง “ปลูกด้วยรัก คัดด้วยใจ จากดอยสูง สู่มือคุณ” ตลอดจนมีตลาดรองรับผลผลิตทั้งตลาดในชุมชน และบริษัทเอกชน ทำให้สมาชิกกลุ่มมีรายได้ และเป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับคนในชุมชน ปัจจุบัน มีสมาชิก 23 คน มีโรงเรือนที่ปลูกผักอินทรีย์ รวมจำนวน 80 โรงเรือน
นายวันนา วรรณไสย ประธานวิสาหกิจชุมชนกลุ่มเกษตรอินทรีย์รักษ์น้ำลุ่มน้ำภาค กล่าวว่า พื้นที่บ้านเทอดชาติ มีชาวบ้านพื้นที่สูง เคยทำไร่ข้าวโพด แต่หันมาปลูกผักปลอดสารพิษภายในโรงเรือน และนอกโรงเรือน ได้แก่ ผักสลัด คอสเขียว กรีนโอ๊ค เรดโอ๊ค เบบี้คอส คะน้าฮ่องกง คะน้ายอด ผักบุ้งจีน กวางตุ้งฮ่องเต้ โขมเขียว โขมแดง พริกไทย ผักชีไทย แครอท ฟักทอง มะนาว ซึ่งกระบวนการผลิตเป็นไปตามมาตรฐานเกษตรอินทรีย์:การผลิต การแปรรูป การแสดงฉลากและการจำหน่ายผลิตผลและผลิตภัณฑ์อินทรีย์ (มกษ. 9000-2564) โดยได้รับการรับรองจากกรมวิชาการเกษตร เรียบร้อยแล้ว
สำหรับตลาดผลผลิตผักอินทรีย์ มีการวางแผนการผลิตอาทิตย์ละ 1.5 ตัน แต่ถ้าเป็นฤดูหนาวจะอยู่ที่ 2.5 ตัน และจัดส่งให้กับบริษัทคู่ค้าที่ จ.สมุทรสาคร จ.ปทุมธานี ตลาดชุมชน หรือตามออเดอร์รายย่อยที่ต้องการ เพื่อให้คนในพื้นที่ได้รู้จัก เข้าถึง และได้บริโภคผักอินทรีย์อย่างปลอดภัย ส่วนในอนาคตวางแผนจะเปิดตลาดผักอินทรีย์ออนไลน์
ทั้งนี้ กลุ่มฯ มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องและมีความสนใจในการจัดตั้งโรงรวบรวมผักและผลไม้ที่มีมาตรฐาน GMP เพื่อเป็นศูนย์รวบรวมผลผลิตของสมาชิกที่มีคุณภาพเป็นไปตามมาตรฐานสินค้าเกษตร เรื่อง การปฏิบัติที่ดีสำหรับโรงรวบรวมผักและผลไม้สด (มกษ.9047-2560) มุ่งเน้นความปลอดภัยต่อการบริโภค โดยได้เข้าร่วมโครงการยกระดับและส่งเสริมการนำมาตรฐาน GMP ไปใช้ในสถานประกอบการ ของสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) ได้รับการอบรมและการพัฒนาเพื่อยกระดับกระบวนการผลิตให้มีความสอดคล้องและเป็นไปตาม
“หากโรงรวบรวมผักและผลไม้สด ผ่านการรับรองมาตรฐาน GMP จะช่วยยกระดับมาตรฐานสินค้าเกษตร อีกทั้งยังเป็นกลยุทธ์สำคัญที่จะช่วยการสร้างโอกาสในการแข่งขันในตลาดสินค้าเกษตรอินทรีย์ เพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าเกษตร รวมไปถึงการสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่เกษตรกรในพื้นที่” ประธานวิสาหกิจชุมชนกลุ่มเกษตรอินทรีย์รักษ์น้ำลุ่มน้ำภาค กล่าว
ด้านนายพิศาล พงศาพิชณ์ เลขาธิการ มกอช. กล่าวว่า มกอช. โดยกองส่งเสริมมาตรฐาน (กสม.) เห็นถึงความสำคัญในการผลิตสินค้าเกษตรให้ได้คุณภาพมาตรฐานตลอดห่วงโซ่การผลิต จึงได้ขับเคลื่อนโครงการยกระดับและส่งเสริมการนำมาตรฐาน GMP ไปใช้ในสถานประกอบการ ทั้งนี้ วิสาหกิจชุมชนกลุ่มเกษตรอินทรีย์รักษ์น้ำลุ่มน้ำภาค เป็นอีกหนึ่งกลุ่มที่เข้าร่วมโครงการดังกล่าว มกอช. จึงได้จัดอบรมให้ความรู้กับสมาชิก รวมทั้งจัดให้มีการดำเนินงานในสถานประกอบการให้มีความพร้อม รวมไปถึงการให้คำแนะนำด้านต่างๆที่เกี่ยวข้อง ขณะนี้โรงรวบรวมผักและผลไม้ ของวิสาหกิจชุมชนกลุ่มเกษตรอินทรีย์รักษ์น้ำลุ่มน้ำภาค อยู่ระหว่างการเตรียมความพร้อมในการยื่นขอการรับรองตามมาตรฐานสินค้าเกษตร เรื่อง การปฏิบัติที่ดีสำหรับโรงรวบรวมผักและผลไม้สด (มกษ.9047-2560) ต่อไป