วันที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2566 เวลา 08.30 น. สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมและติดตามผลการดำเนินงานของโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านท่านผู้หญิงสุประภาดา เกษมสันต์ อำเภอกาบเชิง จังหวัดสุรินทร์ โดยมี นางสุพร ตรีนรินทร์ รองเลขาธิการ กปร. นางสาวจันทร์จิรา อักษรณรงค์ ผู้อำนวยการส่วนติดตามและประเมินผล กองประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ นายอาทิตย์เที่ยง สำรวมจิต หัวหน้าฝ่ายส่งน้ำและบำรุงรักษาที่ 2 โครงการชลประทานจังหวัดสุรินทร์ และคณะเฝ้าทูลละอองพระบาทรับเสด็จ
สำหรับแหล่งน้ำของโรงเรียนและราษฎรบริเวณใกล้เคียง กรมชลประทานได้ดำเนินการสนองพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีรับสั่งให้กรมชลประทาน และสำนักงาน กปร. ร่วมกันจัดหาน้ำสนับสนุนให้แก่โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านท่านผู้หญิงสุประภาดา เกษมสันต์ และราษฎรบริเวณใกล้เคียง แล้วเสร็จเมื่อปี 2562 โดยการขุดลอกสระเก็บน้ำบ้านโพธิ์ทอง ให้สามารถกักเก็บน้ำได้เต็มศักยภาพ ความจุ 115,070 ลูกบาศก์เมตร สามารถส่งน้ำให้แก่โรงเรียนสำหรับดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ และสนับสนุนน้ำให้แก่พื้นที่การเกษตรของราษฎรได้ 50 ไร่ ได้เพียงพอตลอดทั้งปี
ต่อมา เวลา 12.45 น. สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมและติดตามผลการดำเนินงานของศูนย์พัฒนาเกษตรภูสิงห์อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอภูสิงห์ จังหวัดศรีสะเกษ โดยมี นายจรัลธาดา กรรณสูต องคมนตรี นายปวัตร์ นวะมะรัตน เลขาธิการ กปร. นางสุพร ตรีนรินทร์ รองเลขาธิการ กปร. ดร.วัชระ เสือดี ผู้ทรงคุณวุฒิด้านวิศวกรรมชลประทาน (ด้านบำรุงรักษา) นายพิศิษฐศักดิ์ โชตะมังสะ รองผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 8 นายจำรัส สวนจันทร์ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานศรีสะเกษ นางสาวจันทร์จิรา อักษรณรงค์ ผู้อำนวยการส่วนติดตามและประเมินผล กองประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และคณะเฝ้าทูลละอองพระบาทรับเสด็จ
โอกาสนี้ ดร.วัชระ เสือดี ผู้ทรงคุณวุฒิด้านวิศวกรรมชลประทาน (ด้านบำรุงรักษา) ได้กราบบังคมทูลรายงานผลการดำเนินงานการบริหารจัดการน้ำ อ่างเก็บน้ำห้วยติ๊กชูอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ดังนี้ อ่างเก็บน้ำห้วยติ๊กชูอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เป็นโครงการที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถพระบรมราชชนนี พันปีหลวง ได้มีพระราชดำริให้กรมชลประทานดำเนินการก่อสร้าง ซึ่งแล้วเสร็จเมื่อปี 2542 ต่อมา เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ.2543 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระราชดำริให้กรมชลประทานก่อสร้างระบบส่งน้ำเพิ่มเติม เพื่อส่งน้ำให้แก่ราษฎรด้านท้ายอ่างเก็บน้ำ เมื่อดำเนินการแล้วเสร็จในทุกกิจกรรมสามารถเป็นแหล่งน้ำต้นทุน พร้อมส่งน้ำสนับสนุนในพื้นที่ศูนย์พัฒนาการเกษตรภูสิงห์อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จำนวน 540 ไร่ และสามารถส่งน้ำให้แก่พื้นที่เพาะปลูกพืชของราษฎร จำนวน 11,960 ไร่ ทำให้ความเป็นอยู่และรายได้ของราษฎรดีขึ้น มีการจัดตั้งกลุ่มผู้ใช้น้ำ โดยให้ราษฎรมีส่วนร่วมในทุกกิจกรรม ประกอบกับกรมชลประทาน ร่วมกับสำนักงาน กปร. ศูนย์พัฒนาการเกษตรภูสิงห์อันเนื่องมาจากพระราชดำริ และส่วนราชการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ส่งเสริมราษฎรให้มีความรู้ในด้านต่าง ๆ โดยนำรูปแบบองค์ความรู้จากศูนย์พัฒนาการเกษตรภูสิงห์อันเนื่องมาจากพระราชดำริ เพื่อราษฎรได้นำไปประกอบด้านอาชีพของตนเองสำหรับการบริหารจัดการน้ำภายในศูนย์ฯ นั้น กรมชลประทานได้บริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ ปัจจุบันศูนย์ฯ มีน้ำใช้การอย่างเพียงพอตลอดทั้งปี ทั้งนี้ เพื่อให้การใช้น้ำในศูนย์ฯ ครอบคลุมเต็มศักยภาพมากยิ่งขึ้น รองรับการวิจัย และการทดลองต่าง ๆ เพื่อฝึกอบรมและส่งเสริมให้ราษฎรมีองค์ความรู้มากขึ้น กรมชลประทานจึงได้ดำเนินการสำรวจพื้นที่ภายในศูนย์ทั้ง 540 ไร่ พร้อมออกแบบระบบการส่งน้ำ และระบบกระจายน้ำ ให้ครอบคลุมพื้นที่ซึ่งจะสามารถบริหารจัดการน้ำภายในศูนย์ฯ ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น สอดคล้องต่อการขยายผลการศึกษาในระยะต่อไป