ครบรอบ 73 ปี คณะกรรมการ THAICID จับมือ กรมชลประทาน สมาคมศิษย์เก่าวิศวกรรมชลประทาน ในพระบรมราชูปถัมภ์ เครือข่ายสถาบันการศึกษา หน่วยงานราชการและเอกชน เปิดเวที “สัปดาห์เครือข่าย THAICID เพื่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้อย่างบูรณาการ หรือ THAICID-NWIKS” ประจำปี 2566 พร้อมจัดแสดงนิทรรศการและการสาธิตเกี่ยวกับเทคโนโลยีและนวัตกรรมจากเครือข่ายกว่า 25 หน่วยงาน
วันนี้ (3 กรกฎาคม 2566) นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เป็นประธานในพิธีเปิดงานสัปดาห์เครือข่าย THAICID เพื่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้อย่างบูรณาการ ประจำปี 2566 (The THAICID Network Week for Integrated Knowledge Sharing 2023 : THAICID-NWIKS 2023) โดยมี นายวิทยา แก้วมี รองอธิบดีกรมชลประทาน พร้อมด้วยคณะผู้บริหารกรมชลประทาน คณะกรรมการสมาคมศิษย์เก่าวิศวกรรมชลประทาน ในพระบรมราชูปถัมภ์ เข้าร่วมงานดังกล่าว ณ หอประชุมชูชาติ กำภู สถาบันพัฒนาการชลประทาน กรมชลประทาน อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี
นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน ในฐานะประธานคณะกรรมการด้านการชลประทานและการระบายน้ำแห่งประเทศไทย (THAICID) เปิดเผยว่า งาน “สัปดาห์เครือข่าย THAICID เพื่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้อย่างบูรณาการ ประจำปี 2566” ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 3 – 7 กรกฎาคม 2566 ณ สถาบันพัฒนาการชลประทาน กรมชลประทาน อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี เป็นความร่วมมือระหว่าง คณะกรรมการด้านการชลประทานและการระบายน้ำแห่งประเทศไทย (THAICID) กรมชลประทาน สมาคมศิษย์เก่าวิศวกรรมชลประทาน ในพระบรมราชูปถัมภ์ เครือข่ายสถาบันการศึกษา และหน่วยงานราชการและเอกชน เพื่อเป็นเวทีในการเผยแพร่งานวิชาการ ด้านการชลประทานและการระบายน้ำ รวมถึงการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เทคโนโลยีและนวัตกรรมอย่างบูรณาการ ระหว่างสมาชิกเครือข่าย โดยนำเสนอภายใต้หัวข้อหลัก “การขับเคลื่อนงานชลประทานและการระบายน้ำแบบ SMART สนับสนุนกลไกการพัฒนาเศรษฐกิจ เพื่อความยั่งยืน (BCG Model) และเป้าหมายการบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน (SMART Irrigation and Drainage Management complying with Thailand BCG and Carbon Neutrality)”
“การเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์โลกเป็นโจทย์ที่ท้าทายทั้งประเทศไทยและทั่วโลก จากการตื่นตัวของทุกภาคส่วนจะเป็นพลังในการร่วมมือกันขับเคลื่อนภารกิจสำคัญในด้านต่าง ๆ การแลกเปลี่ยนเรียนรู้อย่างบูรณาการตลอดระยะเวลา 5 วัน มุ่งหวังเป็นอย่างยิ่งในการนำองค์ความรู้และประสบการณ์ที่เป็นประโยชน์มาใช้ในการขับเคลื่อนงานตั้งแต่ระดับนโยบาย ขยายผลสู่ภาคปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่องานชลประทานและการระบายน้ำในสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนไปในอนาคต” อธิบดีกรมชลประทาน กล่าว
ด้านนายวิทยา แก้วมี รองอธิบดีฝ่ายวิชาการ กรมชลประทาน ในฐานะเลขาธิการคณะกรรมการด้านการชลประทานและการระบายน้ำแห่งประเทศไทย (THAICID) กล่าวว่า กิจกรรมภายในงานมีการนำเสนอผลงานทางวิชาการ สิ่งประดิษฐ์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม มาร่วมจัดแสดงมากมาย อาทิ การปาฐกพิเศษในหัวข้อหลัก “การขับเคลื่อนงานชลประทานและการระบายน้ำแบบ SMART สนับสนุนกลไกการพัฒนาเศรษฐกิจ เพื่อความยั่งยืน (BCG Model) และเป้าหมายการบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน” โดยได้รับเกียรติจากวิทยากรทั้งในและต่างประเทศ พร้อมกับเจาะลึกการเสวนาในหัวข้อ "อนาคตชาวนากับการทำนาใช้น้ำน้อย" ที่มุ่งเน้นการขับเคลื่อนการทำนาแบบเปียกสลับแห้งแกล้งข้าวอย่างเป็นรูปธรรมในเขตพื้นที่ชลประทาน เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีการจัดแสดงนิทรรศการและการสาธิตเกี่ยวกับเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เป็นผลงานจากเครือข่ายกว่า 25 หน่วยงาน รวมทั้งการจำหน่ายสินค้าเกษตรและสินค้า OTOP ด้วย