Newstimestory

สวพ.8 วิจัยเทคนิคเพิ่มผลผลิตข้าวโพดหวาน ช่วยลดต้นทุนเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรภาคใต้ตอนล่าง

นางสาวบุญณิศา   ฆังคมณี   ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรสงขลา        สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร เขตที่ 8 (สวพ.8)  กรมวิชาการเกษตร   กล่าวว่า   ข้าวโพดหวานลูกผสมพันธุ์สงขลา 84-1 เป็นพันธุ์แนะนำของกรมวิชาการเกษตร มีลักษณะเด่น คือ เมล็ดพันธุ์ราคาถูก ให้ผลผลิตสูง มีคุณภาพเหมาะสมสำหรับการบริโภคฝักสด และสามารถปลูกทั่วไปทั้งในสภาพดินไร่และดินนาของภาคใต้ ปัจจุบันมีปัญหาเกี่ยวกับดินมีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ การใช้ปุ๋ยเคมีจึงเป็นทางเลือกหนึ่งที่เกษตรกรส่วนใหญ่นิยมใช้กันอย่างกว้างขวาง แต่เกษตรกรส่วนใหญ่ซึ่งเป็นเกษตรกรรายย่อยขาดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องในการใช้ปุ๋ยอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งปริมาณและวิธีการใช้ปุ๋ย ดังนั้นจึงจำเป็นต้องทดสอบเทคโนโลยีการจัดการธาตุอาหารพืชที่เหมาะสมสำหรับข้าวโพดหวานลูกผสมพันธุ์สงขลา 84-1 ซึ่งเป็นพันธุ์ที่มีศักยภาพในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง โดยยกระดับการผลิตให้มีประสิทธิภาพ เพื่อลดต้นทุนหรือเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง​

ดังนั้น ทีมนักวิจัยสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร เขตที่ 8 กรมวิชาการเกษตร นำทีมโดยนางสาวบุญณิศา ฆังคมณี ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรสงขลา    จึงได้ศึกษาเทคโนโลยีการจัดการธาตุอาหารพืชที่เหมาะสมสำหรับข้าวโพดหวานลูกผสมพันธุ์สงขลา 84-1 ในแปลงเกษตรกร จ.สตูล ตรัง ยะลา และนราธิวาส โดยดึงเกษตรกรเข้ามามีส่วนร่วมดำเนินการวิจัยด้วยทำให้ทราบถึงปัญหาที่เกษตรกรประสบอยู่ อาทิ เมล็ดพันธุ์ข้าวโพดหวานมีราคาแพง และให้ผลผลิตต่ำ เนื่องจากขาดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องในการใช้ปุ๋ยอย่างมีประสิทธิภาพ จากนั้นได้นำเทคโนโลยีการใส่ปุ๋ยตามลักษณะเนื้อดินสำหรับข้าวโพดหวานลูกผสมพันธุ์สงขลา 84-1 ที่ได้จากงานวิจัยเข้าไปแนะนำให้เกษตรกรลงมือปฏิบัติในพื้นที่จริง พร้อมเปรียบเทียบผลกับวิธีแบบเดิม ซึ่งมีวิธีการปฏิบัติ ดังนี้ ดินเนื้อปานกลาง และดินเนื้อละเอียด (ดินร่วน ดินร่วนเหนียวปนทราย ดินร่วนเหนียวปนทรายแป้ง ดินเหนียวปนทราย ดินเหนียวปนทรายแป้ง ดินร่วนเหนียว และ ดินเหนียว) แนะนำการใส่ปุ๋ยข้าวโพดหวานลูกผสมพันธุ์สงขลา 84-1 โดยใส่ปริมาณธาตุอาหาร 20-5-5 กิโลกรัม N-P2O5-K2O /ไร่ แต่ถ้าดินมีปริมาณอินทรียวัตถุระดับต่ำถึงปานกลาง ควรใส่ปริมาณธาตุอาหารสูงกว่า 20-5-5 กิโลกรัม N-P2O5-K2O/ไร่ หรือใส่ปุ๋ยเพิ่มครั้งที่ 3 เมื่อใบของลำต้นแสดงอาการใบเหลืองโดย ครั้งที่ 1 ใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 16-8-8 อัตรา 63 กิโลกรัม/ไร่ รองก้นหลุมตอนปลูก ครั้งที่ 2 ใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 46-0-0 อัตรา 22 กิโลกรัม/ไร่ เมื่อข้าวโพดอายุ 30 วัน และครั้งที่ 3 เมื่อใบของลำต้นแสดงอาการใบเหลือง ใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 46-0-0 อัตรา 25 กิโลกรัม/ไร่ เมื่อข้าวโพดอายุ 40-45 วัน ดินเนื้อหยาบ (ดินร่วนปนทรายแป้ง ดินร่วนปนทราย ดินทรายแป้ง ดินทรายปนร่วน ดินทราย) ปริมาณธาตุอาหารแนะนำ 30-10-10  N-P2O5-K2O  กิโลกรัม/ไร่ โดยครั้งที่ 1 ใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 อัตรา 67 กิโลกรัม/ไร่ รองก้นหลุม และครั้งที่ 2 ใส่ปุ๋ยสูตร 46-0-0 อัตรา 44 กิโลกรัม/ไร่ เมื่อข้าวโพดอายุ 30 วัน

ผลการเปรียบเทียบระหว่างวิธีแนะนำและวิธีเกษตรกรที่ปฏิบัติแบบเดิม พบว่า การใส่ปุ๋ยตามวิธีแนะนำ (การใส่ปุ๋ยตามลักษณะเนื้อดิน) เป็นวิธีการที่ทำให้ข้าวโพดหวานพันธุ์ลูกผสมสงขลา 84-1 ให้ผลผลิตน้ำหนักฝักสดทั้งเปลือกเฉลี่ย  2,526 กิโลกรัม/ไร่/ปี สูงกว่าการใส่ปุ๋ยตามวิธีเกษตรกร โดยให้ผลผลิตสูงกว่า 151 กิโลกรัม/ไร่/ปี และยังให้ผลตอบแทนสูงกว่า การใส่ปุ๋ยตามวิธีเกษตรกร 2,847 บาท/ไร่/ปี และอีกทั้งยังพบว่าการใส่ปุ๋ยตามคำแนะนำ มีต้นทุนการผลิตที่ลดลงจากการใส่ปุ๋ยตามวิธีเกษตรกร 135 บาท/ไร่/ปี

ปัจจุบันสามารถขยายผลและถ่ายทอดเทคโนโลยีการใส่ปุ๋ยตามลักษณะเนื้อดินให้แก่เกษตรกรในพื้นที่ จังหวัดสตูล ตรัง ยะลา และนราธิวาส จำนวน 40 แปลง 80  ไร่ ทั้งยังได้สร้างแปลงต้นแบบเพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ชุมชน ทำให้ผลผลิตเพิ่มขึ้นและคุณภาพดีขึ้น สามารถสร้างรายได้ให้เกษตรกรเพิ่มสูงขึ้น

สามารถติดต่อข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรสงขลา โทร. 0 7458 6725-30 E-mail : Songkhla.doa@gmail.com

ใหม่กว่า เก่ากว่า