วันนี้(31 มี.ค. 66) ณ สำนักงานพัฒนาแหล่งน้ำขนาดกลางที่ 14 โครงการอ่างเก็บน้ำห้วยมงคลอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ(กอนช.)ลงพื้นที่ไปติดตามการดำเนินโครงการด้านทรัพยากรน้ำในพื้นที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์และเพชรบุรี โดยมี ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน นายนรเศรษฐ สองทอง ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 14 นายธรรมนูญ อินทร์นุช ผู้อำนวยการสำนักงานก่อสร้างชลประทานขนาดใหญ่ที่ 14 นายสัญญา สุริวรรณ ผู้อำนวยการสำนักงานก่อสร้างชลประทานขนาดกลางที่ 14 ตลอดจนผู้เกี่ยวข้องร่วมลงพื้นที่และบรรยายสรุปผลการดำเนินงาน
ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำในพื้นที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และเพชรบุรีว่า สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำในพื้นที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้น 224 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 44 ของความจุอ่างฯรวมกัน มีการจัดสรรน้ำในช่วงฤดูแล้งปี 65/66 ไปแล้วประมาณ 181 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 70 ของแผนฯ ส่วนในพื้นที่จังหวัดเพชรบุรี อ่างเก็บน้ำมีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้น 438 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 54 ของความจุอ่างฯรวมกัน มีการจัดสรรน้ำในช่วงฤดูแล้งปี 65/66 ไปแล้วประมาณ 187 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 39 ของแผนฯ
ทั้งนี้ กรมชลประทาน ได้ติดตามสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด พร้อมวางแผนบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูแล้งปี 65/66 ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ ควบคู่ไปกับการเก็บกัก จึงทำให้การบริหารจัดการน้ำเป็นไปตามแผนที่วางไว้ และเพียงพอใช้ในทุกกิจกรรมไปตลอดช่วงหน้าแล้งนี้ พร้อมกันนี้ยังได้ปฏิบัติตาม 10 มาตรการรองรับฤดูแล้งปี 65/66 ที่กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) กำหนดอย่างเคร่งครัด มีการจัดเตรียมเครื่องจักร เครื่องมือ ไว้คอยช่วยประชาชนได้อย่างทันท่วงที นอกจากนี้ยังได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำการประชาสัมพันธ์รณรงค์ขอความร่วมมือทุกภาคส่วนให้ช่วยกันประหยัดน้ำ เพื่อให้มีปริมาณน้ำเพียงพอไปตลอดช่วงฤดูแล้งนี้
สำหรับโครงการบรรเทาอุทกภัยและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่จังหวัดเพชรบุรีและประจวบคีรีขันธ์ กรมชลประทาน มีแผนดำเนินโครงการฯ เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว รวมทั้งสิ้น 5 โครงการ ได้แก่ 1.โครงการบรรเทาอุทกภัยพื้นที่ลุ่มน้ำเพชรบุรีตอนล่างอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเพชรบุรี(2567-2571) ประกอบด้วยปรับปรุงคลองระบายน้ำหลาก D1 ความยาวรวม 38.542 กิโลเมตร ให้สามารถระบายน้ำได้สูงสุด 350 ลบ.ม./วินาที และเพิ่มประสิทธิภาพการระบายเขื่อนแก่งกระจาน ในอัตรา 103 ลบ.ม./วินาที หากดำเนินการแล้วเสร็จจะช่วยระบายน้ำในช่วงฤดูน้ำหลากลงสู่ทะเลได้เร็วยิ่งขึ้น ทั้งยังเป็นแหล่งน้ำต้นทุนเพื่อการอุปโภคบริโภคของประชาชนในพื้นที่ 5 ตำบล 2 อำเภอ ได้แก่ ต.ท่าไม้รวก ต.ท่าคอย อ.ท่ายาง และ ต.ดอนขุนห้วย ต.นายาง ต.บางเก่า อ.ชะอำ รวมทั้งเพิ่มพื้นที่การเกษตรในช่วงหน้าแล้งได้มากขึ้นอีกด้วย 2.โครงการปรับปรุงเพิ่มประสิทธิภาพการเก็บกักน้ำเขื่อนแก่งกระจาน จังหวัดเพชบุรี (2565-2568) ประกอบด้วย ติดตั้งบานระบายแบบพับได้บนสันฝาย (OGEE)ของอาคารระบายน้ำล้นเดิม สูง 1 เมตร ความยาว 100 เมตร พร้อมก่อสร้างสะพานรถยนต์ข้ามอาคารระบายน้ำล้น สามารถเก็บกักน้ำเพิ่มขึ้นจากเดิมประมาณ 53.06 ล้าน ลบ.ม. ต่อปี ช่วยบรรเทาปัญหาการขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้งและเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูน้ำหลาก
3.โครงการอ่างเก็บน้ำห้วยสาลิกา จังหวัดเพชรบุรี (2567) ความจุ 8.82 ล้าน ลบ.ม. เพื่อเป็นแหล่งน้ำต้นทุนสำหรับการอุปโภคบริโภคให้ประชาชนกว่า 1,131 คน รวมทั้งแหล่งน้ำเพื่อการเกษตรในช่วงฤดูฝนพื้นที่ 1,800 ไร่ และฤดูแล้งอีก 1,200 ไร่ 4.โครงการปรับปรุงเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำเขื่อนปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ (2566-2568) ด้วยการปรับปรุงทางผันน้ำพร้อมอาคารประกอบ อัตราการระบาย 31.5 ลบ.ม./วินาที พร้อมก่อสร้างอาคารป้องกันตลิ่งแม่น้ำปราณบุรี จำนวน 2 แห่ง และก่อสร้างอาคารท่อระบายน้ำลงลำน้ำเดิมและอาคารประกอบ อัตราการระบาย 24.843 ลบ.ม. /วินาที ซึ่งหากดำเนินการแล้วเสร็จทั้งหมด จะสามารถระบายน้ำจากเดิมในอัตรา 3 ลบ.ม./วินาที เป็น 59.343 ลบ.ม./วินาที 5.โครงการบรรเทาอุทกภัยอำเภอบางสะพาน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ (2560-2572) ประกอบด้วย ก่อสร้างอ่างเก็บน้ำ 3 แห่ง ปรับปรุงอ่างเก็บน้ำ 3 แห่ง ฝายทดน้ำ 1 แห่ง ขุดขยายคลองระบายน้ำ 4 สาย ก่อสร้างอาคารบังคับน้ำ 10 แห่ง ขุดคลองผันน้ำ 3 สาย ซึ่งหากดำเนินการแล้วเสร็จทั้งหมดจะสามารถบรรเทาและป้องกันปัญหาน้ำท่วมในเขตพื้นที่อำเภอบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ รวมไปถึงถนนเพชรเกษม ซึ่งเป็นเส้นทางคมนาคมที่สำคัญเพียงเส้นทางเดียวที่จะเดินทางไปสู่ภาคใต้ได้อีกด้วย
ในการนี้ รองนายกรัฐมนตรี ได้กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ปฏิบัติตาม 10 มาตรการรองรับฤดูแล้งที่กำหนดอย่างเคร่งครัด พร้อมให้กรมชลประทานบริหารจัดการแหล่งเก็บน้ำให้มีประสิทธิภาพและตอบสนองต่อการใช้น้ำในทุกพื้นที่ รวมทั้งเร่งดำเนินโครงการด้านทรัพยากรน้ำ ให้เป็นไปตามแผนที่กำหนด เพื่อให้ประชาชนสามารถใช้ประโยชน์จากโครงการได้เร็วที่สุด