จังหวัดจันทบุรีเป็นจังหวัดที่มีศักยภาพในการผลิตผลไม้คุณภาพ โดยมีสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรที่ดำเนินธุรกิจรวบรวมผลิตผล ทั้งทุเรียน มังคุด เงาะ ลองกอง สละ และลำไย จำนวน 9 แห่ง ได้แก่ 1) สหกรณ์การเกษตรมะขาม จำกัด 2) สหกรณ์การเกษตรเขาคิชฌกูฏ จำกัด 3) สหกรณ์การเกษตรเมืองขลุง จำกัด 4) สหกรณ์การเกษตรเพื่อการตลาดลูกค้า ธ.ก.ส.จันทบุรี จำกัด 5) สหกรณ์การเกษตรนายายอาม จำกัด 6) สหกรณ์กองทุนสวนยางบ้านอ่างคีรี จำกัด 7) สหกรณ์การเกษตรเมือง จันทบุรี จำกัด 8) สหกรณ์นิคมสอยดาว จำกัด 9) สหกรณ์การเกษตรสอยดาว จำกัด โดยในปี 2565 ที่ผ่านมา สหกรณ์สามารถรวบรวมและกระจายผลผลิตไปยังตลาดปลายทางต่าง ๆ ทั้งตลาดภายในประเทศ ตลาดต่างประเทศ ห้างโมเดิร์นเทรด และเครือข่ายสหกรณ์/ ผู้บริโภคภายในประเทศ เป็นปริมาณกว่า 6,895 ตัน
“แม้ขณะนี้ตลาดทุเรียนส่งออกไปจีนจะมีการแข่งขันสูง เนื่องจากประเทศเวียดนามและฟิลิปปินส์สามารถส่งออกผลทุเรียนไปยังจีนได้แล้ว แต่เรามั่นใจว่าคุณภาพของทุเรียนไทยเป็นเอกลักษณ์ที่โดดเด่น รสชาติอร่อย มีคุณภาพ ไม่แพ้ชาติใด นอกจากนี้ ยัง จำเป็นต้องสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคภายในประเทศ โดยกระทรวงเกษตรฯ เดินหน้าส่งเสริม ให้ความรู้แก่เกษตรกรชาวสวนเพื่อให้ผลผลิตมีคุณภาพ” รมช.มนัญญา กล่าว
นอกจากนี้ กระทรวงเกษตรฯ โดยกรมวิชาการเกษตร ได้เดินหน้าส่งเสริมการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (Good Agricultural Practices: GAP) ให้กับเกษตรกรสมาชิกในจังหวัดจันทบุรี เพื่อผลิตสินค้าเกษตรให้มีคุณภาพดีและปลอดภัยต่อเกษตรกรและผู้บริโภค โดยเฉพาะสินค้าเกษตรเพื่อการส่งออก จึงทำให้มีโอกาสทางตลาดเพิ่มขึ้น สามารถส่งออกได้อย่างถูกต้องตามกระบวนการโดยไม่ล่าช้า อีกทั้งยังเดินหน้าสร้างความรู้ ความเข้าใจให้กับเกษตรกร เจ้าของสวน คนตัด และล้ง ซึ่งขณะนี้ได้ตรวจรับรองแหล่งผลิตพืช GAP ครบ 100 เปอร์เซ็นแล้ว และในปี 2566 ได้เพิ่มความเข้มข้นโดยเปิดอบรมโครงการฝึกอบรมแรงงานเทคนิคการตัดและคัดแยกผลทุเรียนเบื้องต้น ให้กับนักตัดเพื่อนำความรู้ที่ไเ้ไปประยุกต์ใช้ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ จังหวัดจันทบุรี ถือได้ว่าเป็นจังหวัดที่ส่งออกผลไม้อันดับต้น ๆ ของประเทศ โดยมีพื้นที่เพาะปลูกผลไม้ ทั้งทุเรียน มังคุด เงาะ ลองกอง สละ ลำไย จำนวน 807,267 ไร่ และเป็นพื้นที่ให้ผลผลิตแล้ว จำนวน 711,229 ไร่ มูลค่ากว่า 77,789,000 บาท
โอกาสนี้ รมช.มนัญญา ได้มอบเงินกองทุนดอกเบี้ยต่ำเพื่อบริหารจัดการธุรกิจรวบรวมผลไม้ในสถาบันเกษตรกร ปี 66 วงเงิน 11.6 ล้านบาท แก่ผู้แทนสหกรณ์ จำนวน 5 แห่ง ได้แก่ สหกรณ์การเกษตรเมืองขลุง จำกัด สหกรณ์การเกษตรสอยดาว จำกัด สหกรณ์การเกษตรนายายอาม จำกัด สหกรณ์การเกษตรเพื่อการตลาดลูกค้า ธ.ก.ส.จันทบุรี จำกัด และสหกรณ์กองทุนสวนยางบ้านอ่างคีรี จำกัด และพบปะสมาชิกสหกรณ์ เกษตรกร ผู้แทนภาคเอกชน ประชาชนทั่วไป เพื่อสร้างการรับรู้ให้เข้าใจนโยบายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นโยบายกรมส่งเสริมสหกรณ์ การดำเนินธุรกิจสหกรณ์ พร้อมทั้งเยี่ยมชมบูธนิทรรศการของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สถาบันเกษตรกร กลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน และภาคเอกชน ภายในงาน
จากนั้นลงพื้นที่เยี่ยมชมสวนทุเรียนกระดุม ของนายภานุ ชัยกุล สมาชิกสหกรณ์การเกษตรเมืองขลุง จำกัด ตำบลเกวียนหัก อำเภอขลุง พื้นที่กว่า 40 ไร่ และสวนทุเรียนของ นายอรรณพ ปฐมพฤกษ์วงษ์ สมาชิกสหกรณ์การเกษตรเมืองขลุง จำกัด พื้นที่ 75 ไร่ ซึ่งเป็นสวนที่มีการจัดการสวนตามหลักการผลิตทางการเกษตรที่ดีและเหมาะสม หรือ GAP ได้รับการรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตร การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับพืชอาหาร