ด้วยเหตุนี้จึงมีความจำเป็นที่ต้องเร่งพัฒนาศักยภาพการบริหารจัดการน้ำของจังหวัดบึงกาฬให้มีประสิทธิภาพและยั่งยืน รองรับความต้องการใช้น้ำที่เพิ่มขึ้นในอนาคต โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาแผนบูรณาการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่จังหวัดบึงกาฬ ซึ่ง สทนช.มอบหมายให้มหาวิทยาลัยนเรศวรและกลุ่มบริษัทที่ปรึกษาดำเนินการศึกษาทั้งด้านการจัดทำแผนบูรณาการตามสภาพปัญหาพื้นที่ในเชิงลึก จัดทำแผนการพัฒนาบึงหรือหนองน้ำธรรมชาติที่มีศักยภาพของจังหวัดบึงกาฬ และจัดทำรายงานวางโครงการเบื้องต้นที่สำคัญเร่งด่วนตามแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี พร้อมทั้งการจัดทำฐานข้อมูลระบบสารสนเทศ และงานด้านประชาสัมพันธ์ มวลชนสัมพันธ์และการมีส่วนร่วม ปัจจุบันที่ปรึกษาได้ลงพื้นที่พบปะประชาชนกว่า 5 ครั้งผ่านกิจกรรมการประชุมปฐมนิเทศและการประชุมกลุ่มย่อย โดยมีประชาชนเข้าร่วม 611 คน เพื่อสอบถามความคิดเห็น ข้อเสนอแนะ และนำมาประกอบการจัดทำแผนบูรณาการ (Integrated Master Plan) พร้อมจัดทำแผนการพัฒนาบึงหรือหนองน้ำธรรมชาติที่มีศักยภาพของจังหวัดบึงกาฬ โดยจะดำเนินการศึกษาแล้วเสร็จภายในเดือนกันยายน 2566
“จากการลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำและการบริการจัดการน้ำที่ บึงโขงหลง และประตูระบายน้ำห้วยกำแพง ทั้ง 2 แห่ง นับเป็นแหล่งน้ำสำคัญของจังหวัดบึงกาฬ บึงโขงหลง ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ อ.เซกา และ อ.บึงโขงหลง มีขนาดพื้นที่ 11,494.79 ไร่ เป็นแหล่งน้ำขนาดใหญ่ที่สำคัญของจังหวัดบึงกาฬ เป็นแหล่งน้ำเพื่อการอนุรักษ์ การผลิตประปา และการเพาะปลูก ซึ่ง สทนช. ได้กำหนดให้บึงโขงหลงอยู่ในกลุ่มแผนการแก้ไขปัญหาทรัพยากรน้ำอย่างเร่งด่วนให้สอดคล้องกับแผนแม่บทฯ น้ำ 20 ปี ขณะนี้มีหน่วยงานจากภาคประชาชน ภาครัฐ และท้องถิ่น เสนอแผนงานพัฒนาพื้นที่ดังกล่าว โดยที่ปรึกษาโครงการได้รวบรวมข้อมูลและนำมาเสนอเพื่อพิจารณาดำเนินการพัฒนาในระยะต่อไป สำหรับประตูระบายน้ำห้วยกำแพง เป็นโครงการเพื่อบรรเทาอุทกภัยและลดความเสียหายจากอุทกภัยแก่พื้นที่ในเขตอำเภอเมืองบึงกาฬ เช่น ศูนย์ราชการจังหวัดบึงกาฬ พื้นที่หน่วยราชการ พื้นที่เกษตรกรรมข้าวและพืชไร่ เนื่องมาจากระดับน้ำหลากในแม่น้ำโขงสูงในบางปี และไหลย้อนเข้าห้วยกำแพง และเข้ามาในหนองกุดทิง โดยมีระดับสูงกว่าช่วงฤดูแล้งหลายเมตร โดยกรมชลประทานรับผิดชอบก่อสร้างประตูระบายน้ำห้วยกำแพง คาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนกันยายน 2566 ซึ่งจะช่วยลดความเสียหายที่เกิดขึ้นจากปัญหาน้ำท่วมน้ำหลากได้ อย่างไรก็ตาม การพัฒนาแหล่งน้ำตามแผนบูรณาการฯ โดยชุมชนมีส่วนร่วมในการกำหนดรูปแบบการพัฒนา จะสามารถเพิ่มศักยภาพในการกักเก็บน้ำ ช่วยเพิ่มแหล่งน้ำต้นทุนสำหรับการผลิตน้ำอุปโภคบริโภคที่มีความขาดแคลนในพื้นที่จังหวัดบึงกาฬได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น” เลขาธิการ สนทนช. กล่าวทิ้งท้าย