Newstimestory

ชป.ติดตามสถานการณ์น้ำประจำสัปดาห์ คาดน้ำเพียงพอให้เกษตรกรเพาะปลูกตลอดแล้งนี้

ปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์ดี  กรมชลประทาน พร้อมส่งน้ำให้เกษตรกรได้เพาะปลูกอย่างเพียงพอ  พร้อมเฝ้าระวังสถานการณ์ฝนภาคใต้อย่างใกล้ชิด  เตรียมพร้อมรับมือตลอด 24 ชั่วโมง ตามข้อสั่งการของ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และนายประพิศ  จันทร์มา  อธิบดีกรมชลประทาน  

วันนี้ (13 ธ.ค.65) ที่ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ (SWOC) กรมชลประทาน ถนนสามเสน ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ ผ่านระบบ Video Conference ไปยังสำนักงานชลประทานที่ 1-17 และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมอุตุนิยมวิทยา สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ กรมทรัพยากรน้ำ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สำนักการระบายน้ำกรุงเทพมหานคร การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เพื่อติดตามและวิเคราะห์สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำ แหล่งน้ำ และแม่น้ำสายหลักต่าง ๆ สำหรับเป็นข้อมูลในการบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องและเหมาะสมในแต่ละพื้นที่ต่อไป 

ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ปัจจุบัน (13 ธ.ค.65) อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกัน 63,271 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 83 ของความจุอ่างฯ เป็นน้ำใช้การได้ 39,314 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 75  ของปริมาณน้ำใช้การได้รวมกัน  เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกัน 20,670 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 83 ของความจุอ่างฯ ปริมาณน้ำใช้การได้ 13,974 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 77 ของปริมาณน้ำใช้การได้รวมกัน ภาพรวมปริมาณน้ำต้นทุนอยู่ในเกณฑ์ดี  จนถึงขณะนี้มีการจัดสรรน้ำในฤดูแล้งปี 65/66 ทั้งประเทศไปแล้ว 4,702 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ11 ของแผนฯ (แผนจัดสรรน้ำทั้งประเทศ 27,685 ล้าน ลบ.ม.)   เฉพาะลุ่มเจ้าพระยามีการจัดสรรน้ำไปแล้ว 1,011   ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 12 ของแผนฯ  (แผนจัดสรรน้ำลุ่มเจ้าพระยา 9,100 ล้าน ลบ.ม.)   

ขณะนี้อยู่ในช่วงการบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูแล้ง ของพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก รวมทั้งภาคกลางแล้ว  จึงได้กำชับให้โครงการชลประทานในพื้นที่ วางแผนจัดสรรน้ำและแผนการเพาะปลูกให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุน  พร้อมรณรงค์ให้เกษตรกรที่มีความพร้อมให้เริ่มทำการเพาะปลูก เพื่อให้สามารถเก็บเกี่ยวแล้วเสร็จได้ทันก่อนฤดูน้ำหลากจะมาถึงในปีหน้า  เพื่อลดความเสี่ยงผลผลิตเสียหาย  รวมทั้งตรวจสอบและกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำอย่างต่อเนื่องเพื่อให้การส่งน้ำไปยังพื้นที่การเกษตรทำได้ดียิ่งขึ้น   ตลอดจนปฏิบัติตาม 10 มาตรการรองรับฤดูแล้งปี 65/66 ที่คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.)เห็นชอบ อย่างเคร่งครัด  ที่สำคัญให้ร่วมบูรณาการกับหน่วยงานเกี่ยวข้องทำการประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ถึงสถานการณ์น้ำให้เกษตรกรและประชาชนรับรู้รับทราบอย่างต่อเนื่องและทั่วถึง


 อนึ่ง กรมอุตุนิยมวิทยาได้คาดการณ์ว่า ในช่วงวันที่ 16-18 ธ.ค.65 นี้ จะมีฝนตกหนักถึงหนักมากบริเวณภาคใต้ตอนล่าง  จึงกำชับไปยังโครงการชลประทานในพื้นที่เสี่ยง  ให้เฝ้าระวังและติดตามสภาพอากาศจากทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด พร้อมติดตามตรวจสอบปริมาณน้ำท่าจากสถานีอุทกวิทยาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สามารถแจ้งเตือนประชาชนได้ทัน พร้อมปฏิบัติตาม 13 มาตรการรับมือฤดูฝนปี65 ที่กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) กำหนดอย่างเคร่งครัด จัดเตรียมเครื่องจักรเครื่องมือ อาทิ   เครื่องสูบน้ำ  เครื่องผลักดันน้ำ  รถแทรกเตอร์  รถขุด  และเครื่องจักรอื่นๆ ตลอดจนเจ้าหน้าที่เข้าประจำพื้นที่เสี่ยง เพื่อให้สามารถเข้าแก้ไขสถานการณ์น้ำได้ทันที  ลดผลกระทบที่จะเกิดกับประชาชนให้ได้มากที่สุด

ใหม่กว่า เก่ากว่า