นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน ระบุว่า จากสถานการณ์ฝนตกหนักถึงหนักมากตั้งแต่ช่วงต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ทำให้หลายจังหวัดในพื้นที่ภาคใต้ได้รับผลกระทบ เช่น จังหวัดนครศรีธรรมราช มีพื้นที่น้ำท่วม 1 อำเภอ ได้แก่ ต.เกาะทวด อ.ปากพนัง เนื่องจากเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำปลายน้ำที่รับน้ำจากคลองเสาธงก่อนระบายน้ำออกสู่ทะเล ประกอบกับมีสถานการณ์น้ำทะเลหนุน จึงทำให้การระบายน้ำทำได้ช้า โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาปากพนังล่าง ได้ทำการติดตั้งเครื่องสูบน้ำจำนวน 18 เครื่อง เครื่องสูบน้ำระบบ Hydroflow จำนวน 2 เครื่อง และเครื่องผลักดันน้ำอีกจำนวน 4 เครื่อง บริเวณพื้นที่ ต.คลองน้อย อ.ปากพนัง และติดตั้งเครื่องสูบน้ำระบบ Hydroflow จำนวน 2 เครื่อง และเครื่องผลักดันน้ำจำนวน 4 เครื่อง ที่บริเวณประตูระบายน้ำบางไทร พร้อมควบคุมการเปิด-ปิด ประตูระบายน้ำ ตามจังหวะการขึ้นลงของน้ำทะเล เพื่อเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่โดยเร็วที่สุด
ปัจจุบันสถานการณ์น้ำมีแนวโน้มลดลง คาดว่าหากไม่มีปริมาณฝนตกลงมาเพิ่ม จะสามารถควบคุมสถานการณ์ให้กลับสู่ภาวะปกติในเร็ววัน ขณะที่ จังหวัดปัตตานี จากผลกระทบที่ฝนได้ตกลงมาอย่างหนัก ทำให้ระดับน้ำในลำน้ำสายหลักต่างๆ เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้มีพื้นที่ได้รับผลกระทบ 2 อำเภอ ได้แก่ อ.เมือง และ อ.มายอ โครงการชลประทานปัตตานี ได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำที่บริเวณโรงพยาบาลหนองจิก จำนวน 2 เครื่อง และที่โรงพยาบาลโคกโพธิ์ อีกจำนวน 1 เครื่อง เตรียมพร้อมรับสถานการณ์น้ำหลากที่อาจจะเกิดขึ้น รวมทั้งติดตามสถานการณ์น้ำและการบริหารจัดการน้ำของเขื่อนปัตตานีอย่างใกล้ชิดด้วย
ส่วนจังหวัดนราธิวาส มีพื้นที่น้ำท่วม 4 อำเภอ ได้แก่ อ.เมืองนราธิวาส อ.ระแงะ อ.บาเจาะ และ อ.รือเสาะ โครงการชลประทานนราธิวาส ได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำเคลื่อนที่จำนวน 22 เครื่อง เครื่องสูบน้ำระบบ Hydro Flowจำนวน 6 เครื่อง และเครื่องผลักดันน้ำอีกจำนวน 4 เครื่อง ที่บริเวณประตูระบายน้ำปิเหล็ง 1 อ.เจาะไอร้อง เร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่อย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ กรมชลประทาน จะติดตามสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำในพื้นที่อย่างใกล้ชิด รวมถึงทำงานร่วมกับหน่วยงานท้องถิ่น ประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนถึงสถานการณ์น้ำให้ประชาชนได้รับทราบอย่างต่อเนื่อง และพร้อมที่จะเข้าไปให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบไปจนกว่าสถานการณ์จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ