กรมชลประทาน น้อมนำพระราชดำริ ในหลวงรัชกาลที่ 9 ก่อสร้างอุโมงค์ผันน้ำ “ลำพะยังภูมิพัฒน์” แบ่งปันน้ำ(ใจ)จากชาวมุกดาหาร สู่ชาวกาฬสินธุ์ มีน้ำใช้อย่างเพียงพอ แก้ปัญหาขาดแคลนน้ำ
นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า กรมชลประทาน ได้สนองพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 หลังจากเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2535 พระองค์ท่านได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎร ในพื้นที่อำเภอเขาวง จังหวัดกาฬสินธุ์ ได้ทอดพระเนตรสภาพภูมิประเทศลำพะยังที่บ้านกุดตอแก่น ทรงเห็นสภาพความยากลำบากของราษฎรและการขาดแคลนน้ำ เนื่องจากขาดระบบชลประทาน
กรมชลประทาน จึงเริ่มการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำลำพะยังตอนบน อำเภอเขาวง จังหวัดกาฬสินธุ์ และระบบส่งน้ำ พร้อมก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยไผ่ ที่ตำบล กกตูม อำเภอดงหลวง จังหวัดมุกดาหาร เพื่อผันน้ำมาเติมให้กับพื้นที่รับประโยชน์ของอ่างเก็บน้ำลำพะยังตอนบน จังหวัดกาฬสินธุ์ ผ่านอุโมงค์ผันน้ำเชื่อม 2 จังหวัด ที่มีความยาวมากถึง 710 เมตร แต่เนื่องจากไม่สามารถนำน้ำมาเติมยังอ่างเก็บน้ำลำพะยังตอนบน ซึ่งอยู่บนพื้นที่ภูเขาได้โดยตรง รวมทั้งอ่างเก็บน้ำลำพะยังตอนบนมีขนาดเล็กไม่สามารถผันน้ำมาเก็บไว้ได้ทั้งหมด จึงได้พิจารณาเพิ่มระดับเก็บกักของอ่างเก็บน้ำลำพะยังตอนบน จากปริมาณความจุเดิม 3.50 ล้านลูกบาศก์เมตร เป็น 4 ล้านลูกบาศก์เมตร
นอกจากนี้ ยังได้ทำการก่อสร้างถนนตามแนวท่อส่งน้ำและระบบส่งน้ำฯเสร็จเมื่อปี 2546 พร้อมขุดสระเก็บน้ำประจำไร่นาอีก 168 แห่ง เสร็จในปี 2553 โดยมีพื้นที่รับประโยชน์ 16,600 ไร่ เพื่อกักเก็บน้ำนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด นับเป็นการแบ่งปันน้ำ(ใจ) จากชาวมุกดาหารไปสู่ชาวกาฬสินธุ์ ได้มีน้ำต้นทุนไว้ใช้อย่างเพียงพอตลอดทั้งปี
นับเป็นอีกหนึ่งโครงการในพระราชดำริที่แสดงให้เห็นถึงน้ำพระราชหฤทัยของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ที่ทรงมุ่งมั่นแก้ไขให้ราษฎรมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และยังได้พระราชทานชื่ออุโมงค์ผันน้ำที่ผันจากอ่างเก็บน้ำห้วยไผ่ มาให้พื้นที่การเกษตร ของโครงการพัฒนาลุ่มน้ำลำพะยังตอนบนอันเนื่องมาจากพระราชดำริว่า “ลำพะยังภูมิพัฒน์” ซึ่งหมายความว่า อุโมงค์ผันน้ำที่นำความเจริญมาสู่แผ่นดินลุ่มน้ำลำพะยัง