นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.สาธารณสุข ในฐานะประธานกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เป็นประธานในพิธีเปิดงานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 15 พ.ศ.2565 ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) และภาคีเครือข่าย จัดขึ้นตาม พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 ภายใต้ประเด็นหลัก “ความเป็นธรรมด้านสุขภาพ โอกาสและความหวังอนาคตประเทศไทย” โดยมีเครือข่ายสมัชชาสุขภาพทั่วประเทศเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก ทั้งในรูปแบบออนไลน์และออนไซต์ ณ โรงแรมเซ็นทรา บายเซ็นทารา ศูนย์ราชการ คอนเวนชันเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ
นายอนุทิน ปาฐกถาพิเศษตอนหนึ่งในพิธีเปิดการประชุม ระบุว่า ที่ผ่านมาผลงานด้านสุขภาพของประเทศไทยเป็นที่ประจักษ์ในสายตาชาวโลก ไม่ว่าจะเป็นความครอบคลุมของระบบบริการสุขภาพ มาตรฐานการให้บริการด้านสาธารณสุข ตลอดจนความสามารถในการควบคุมรับมือการระบาดของโรคโควิด-19 ที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งทั้งหมดเกิดจากความร่วมมือของทุกภาคส่วนของสังคม และผลจากการที่ประเทศไทยมีระบบบริการสุขภาพและระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า รวมทั้งระบบอาสาสมัครจิตอาสา ที่แข็งแกร่งและมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง
“วิกฤตโรคระบาดที่ผ่านมาเป็นข้อเท็จจริงที่ยืนยันว่า เรื่องสุขภาพมีความหมายและความสำคัญมากกว่าเรื่องการเจ็บป่วย แต่เป็นเรื่องเกี่ยวกับทุกมิติ ทั้งเศรษฐกิจ สังคม การเมืองทั้งภายในและระหว่างประเทศ และเมื่อเกิดวิกฤตขึ้น กลุ่มประชาชนที่ได้รับผลกระทบมากและรุนแรงที่สุดคือกลุ่มเปราะบาง กลุ่มเด็ก สตรี ผู้สูงอายุ แรงงานข้ามชาติ เป็นต้น ขณะเดียวกันเราต่างรับรู้ถึงพลังความร่วมมือของทุกภาคส่วนในสังคม ความสามารถของบุคลากรที่เกี่ยวข้อง ความเข้มแข็งของการเกื้อกูลกันในระดับชุมชน ทั้งหมดนี้จึงเป็นความหวัง เป็นโอกาส และเป็นอนาคตของประเทศไทย ตามแนวคิดหลักของสมัชชาสุขภาพฯ ครั้งนี้” นายอนุทิน กล่าว
บนเวทีสมัชชาสุขภาพแห่งชาติในวันนี้ นายอนุทิน ยังได้ร่วมกับคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) และเครือข่ายสมัชชาสุขภาพทั่วประเทศ ในการประกาศเจตนารมณ์ของเครือข่ายสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ เพื่อร่วมขับเคลื่อนเป้าหมายหลักของสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 15 ได้แก่ 1.จะสนับสนุนให้มีการใช้แนวคิดเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียวเพื่อยกระดับเศรษฐกิจครัวเรือนฐานราก ลดความเหลื่อมล้ำ ขจัดความยากจนข้ามรุ่น และบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 2.จะสนับสนุนให้ประชาชนมีการออกกำลังกาย เล่นกีฬา และมีกิจกรรมทางกายอื่นๆ สะสมเป็นข้อมูลกลางเพื่อการสร้างเสริมสุขภาพ ควบคุมป้องกันโรค และสร้างสังคมสุขภาวะ 3.จะสนับสนุนให้มีระบบหลักประกันรายได้เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีเมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุโดยกำหนดให้เป็นวาระแห่งชาติที่ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมเป็นเจ้าของ เพื่อความมั่นคงและการมีคุณภาพชีวิตที่ดีในวัยสูงอายุให้กับประชาชนทุกคน
นายชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ อดีตปลัดกระทรวงยุติธรรม และ ปัจจุบันเป็นประธานกรรมการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ (คจ.สช.)ครั้งที่ 15 พ.ศ.2565 กล่าวว่า การประกาศเจตนารมณ์ของทุกฝ่ายในครั้งนี้ ถือเป็นการให้คำมั่นสัญญาที่ทุกฝ่ายจะมาร่วมกันสร้างฉันทมติและเดินหน้าขับเคลื่อนตามระเบียบวาระของสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 15 ทั้ง 3 ประเด็น ประกอบด้วย มติที่ 1 การขจัดความยากจนตามแนวคิดเศรษฐกิจ BCG: การยกระดับเศรษฐกิจครัวเรือน มีเนื้อหาที่มุ่งให้ทุกภาคส่วนของสังคม มีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาความยากจน ผ่านการประยุกต์ใช้แนวคิดการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy: BCG)ที่มีการนำองค์ความรู้และนวัตกรรม มาหนุนเสริมทุนทางธรรมชาติและทุนทางวัฒนธรรม เพื่อสร้างโอกาสในการยกระดับเศรษฐกิจครัวเรือนฐานราก
มติที่ 2 การขับเคลื่อนแพลตฟอร์มเชื่อมโยงและบูรณาการข้อมูลสถิติการออกกำลังกาย และการเล่นกีฬาของประชาชน(Calories Credit Challenge: CCC) ภายใต้แนวคิดโมเดลเศรษฐกิจใหม่ (BCG Model) มีเนื้อหาในการสนับสนุนและส่งเสริมให้ประชาชนมีการออกกำลังกาย การเล่นกีฬา โดยใช้แพลตฟอร์ม CCC เป็นเครื่องมือในการกระตุ้น จูงใจ ด้วยการสะสมปริมาณแคลอรี่ และจัดเก็บเป็นข้อมูลกลาง (Big Data) สำหรับติดตามประเมินผล พร้อมนำมาช่วยยกระดับอุตสาหกรรมกีฬาและการท่องเที่ยว เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจของประเทศ มติที่ 3 หลักประกันรายได้เพื่อคุณภาพชีวิตเมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุ เป็นกรอบทิศทางนโยบาย (Policy Statement) เพื่อนำไปสู่การจัดให้มีระบบหลักประกันรายได้ฯ ที่คนในสังคมทุกช่วงวัย ทุกสาขาอาชีพจากทุกภาคส่วน ร่วมเป็นเจ้าของและมีส่วนร่วมในการดำเนินงาน ภายใต้ 5 องค์ประกอบหลักที่มีความเชื่อมโยงและต้องขับเคลื่อนไปด้วยกัน โดยทั้ง 3 มตินี้ได้ผ่านการพิจารณาของภาคีสมาชิกสมัชชาสุขภาพของแต่ละประเด็น ซึ่งได้มีฉันทมติเห็นชอบร่วมกันไปแล้วเมื่อวันที่ 1, 15, 16 ธ.ค.ที่ผ่านมา ตามลำดับ
ด้าน นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า ทั้ง 3 ระเบียบวาระที่เข้าสู่การพิจารณาของสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 15 ล้วนเป็นนโยบายสาธารณะที่มุ่งตอบโจทย์ประเด็นปัญหาสำคัญของประเทศ อย่างเช่น มติเรื่องของหลักประกันรายได้เพื่อคุณภาพชีวิตเมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุ ที่ถือเป็นเรื่องใหญ่ของประเทศที่กำลังเดินหน้าเข้าสู่สังคมสูงอายุแบบสมบูรณ์ ซึ่งกำลังจะตามมาด้วยภาระค่าใช้จ่ายอันส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ ภายใต้บริบทหลังสถานการณ์โควิด-19 ที่ซ้ำเติมด้วยวิกฤตเศรษฐกิจ ถ้าไม่มีนโยบายหรือระบบที่มีประสิทธิภาพมารองรับจะกระทบกับความมั่นคงของทุกครอบครัว
“มตินี้เป็นการวาง 5 เสาหลัก ที่จะนำไปสู่การสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีของคนไทยเมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุ คือ 1. การพัฒนาผลิตภาพและรายได้ประชากรทุกช่วงวัย 2. เงินอุดหนุนและบริการที่จำเป็นจากรัฐ 3. การออมระยะยาว การบริหารจัดการเงิน 4. การเข้าถึงหลักประกันสุขภาพ การบริการสุขภาพระยะยาว (Long-term care) 5. การร่วมกันดูแลของครอบครัว ชุมชน ท้องถิ่น ซึ่งแน่นอนว่าเรื่องนี้เป็นการวางระบบใหญ่ที่เกี่ยวข้องกับผู้คนทุกวัย ไม่ใช่เพียงเรื่องของผู้สูงวัยเท่านั้น นี่จึงเป็นเรื่องระยะยาวที่เราจะต้องใช้เวลาหลังจากนี้ร่วมกันผลักดัน และขับเคลื่อนให้เกิดเป็นรูปธรรมต่อไป” นพ.ประทีป กล่าว
อนึ่ง เวทีสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 15 พ.ศ.2565 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 21-22 ธ.ค. 2565 โดยนอกจากการร่วมกันประกาศเจตนารมณ์ และแสดงถ้อยแถลงเพื่อร่วมกันขับเคลื่อนมติทั้ง 3 ประเด็นแล้ว ยังมีหัวข้อเสวนาที่น่าสนใจมากมาย รวมทั้งการแสดงปาฐกถาที่ได้รับเกียรติจาก ศ.ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์รมว.อุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม รศ.ดร เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง ประธานกรรมการนโยบายองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ThaiPBS) ด้วย