นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า กรมชลประทาน ได้ทยอยนำเครื่องจักร เครื่องมือ และเครื่องสูบน้ำ เข้าไปสนับสนุนภารกิจเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่ลุ่มต่ำหลายแห่ง หลังน้ำลด พร้อมกันนี้ได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าไปฟื้นฟูพื้นที่ต่างๆ ที่น้ำลดลงแล้ว เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชน ให้สามารถกลับมาใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างปกติโดยเร็ว ตามนโยบายของกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ(กอนช.) อาทิ
📌 สำนักงานชลประทานที่ 7 นำรถบรรทุกน้ำ และอุปกรณ์ ลงพื้นที่ดำเนินการช่วยเหลือ ฟื้นฟู ทำความสะอาดพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยหลังน้ำลด ที่วัดป่าสว่างวีระวงศ์ ตำบลสว่าง อำเภอสว่างวีระวงศ์ จังหวัดอุบลราชธานี
📌โครงการชลประทานอ่างทอง เร่งระบายน้ำท่วมขังในทุ่งลำท่าแดง ด้วยการเปิดบานระบายน้ำ และควบคุมปริมาณน้ำผ่านประตูระบายน้ำ(ปตร.)ซอยสินพล, และสูบน้ำที่ ปตร.วัดสนามชัย ออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ด้วยเครื่องสูบน้ำ Hydro flow ขนาด 30 นิ้ว และเครื่องสูบน้ำด้วยไฟฟ้าของเทศบาลเมืองอ่างทองอีก 4 เครื่อง
📌โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษามหาราช เข้าไปติดตั้งเครื่องสูบน้ำ Hydro flow ขนาดท่อ 28 นิ้ว จำนวน 1 เครื่อง เพื่อช่วยเหลือระบายน้ำท่วมขังในพื้นที่หมู่ 6 ต.โพนางดำออก อ.สรรพยา จ.ชัยนาท ลงสู่คลองชัยนาท-อยุธยา (ฝั่งขวา) กม.17+900
📌 โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาพระยาบรรลือ ทำการติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำ จำนวน 2 เครื่อง ณ บริเวณปตร.ปากคลองลากฆ้อน ตำบลสามเมือง อำเภอลาดบัวหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพื่อเพิ่มประะสิทธิภาพและเร่งการระบายน้ำออกจากพื้นที่
📌 โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาบรมธาตุ ติดตั้งเครื่องสูบน้ำ บริเวณ หมู่ที่ 8 ต.ทับยา อ.อินทร์บุรี จ.สิงห์บุรี พร้อมกับเร่งซ่อมแซมจุดคันดินขาดในพื้นที่ หมู่ที่ 2 ต.บางกระบือ อ.เมืองสิงห์บุรี เพื่อบรรเทาและลดผลกระทบให้กับประชาชน
ทั้งนี้ กรมชลประทาน ได้วางแผนช่วยเหลือพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยหลังน้ำลดอย่างต่อเนื่อง พร้อมร่วมมือกับหลายหน่วยงาน เข้าไปเร่งระบายน้ำและฟื้นฟูพื้นที่ประสบอุทกภัยทั่วประเทศ ให้กลับเข้าสู่ภาวะปกติโดยเร็ว หากประชาชนหรือหน่วยงานต้องการความช่วยเหลือ สามารถประสานไปยังโครงการชลประทานใกล้บ้าน หรือโทร.สายด่วนกรมชลประทาน 1460