บรรยากาศที่ป่าชายเลนพื้นที่ ต.ท่าพริก อ.เมือง จ.ตราด วันนี้ คึกคักเป็นพิเศษ เพราะที่นี่เป็นจุดหมายของกิจกรรม ปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพ ภายใต้โครงการ อนุรักษ์และฟื้นฟูป่า “ซีพีเอฟ ปลูก ปัน ป้อง ป่าชายเลน” ที่ชาวตำบลท่าพริก ร่วมกับบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ ตกลงร่วมกันในการ Kik off กิจกรรมเพื่อการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าชายเลน ทั้งการปลูกป่าชายเลน ปล่อยปลา และปูดำ เพื่อเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพ สร้างแหล่งอาหารของชุมชนอย่างยั่งยืน เน้นสร้างพื้นที่ไม้ป่าชายเลนเหมือนธรรมชาติ บนพื้นที่ 1,300 ไร่
โดยมี นายชำนาญวิทย์ เตรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดตราด เป็นประธานเปิดกิจกรรมร่วมกับ นายสุภกิต เจียรวนนท์ ประธานกรรมการ ซีพี-ซีพีเอฟ ที่นำคณะผู้บริหารในเครือฯ ทั้งนายอดิเรก ศรีประทักษ์ ประธานคณะกรรมการบริหาร นายพงษ์ วิเศษไพฑูรย์ ประธานกรรมการกลุ่มธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมสัตว์น้ำ เขตประเทศอินเดีย น.สพ.สุจินต์ ธรรมศาสตร์ ประธานผู้บริหารฝ่ายปฏิบัติการ ธุรกิจสัตว์น้ำ ซีพีเอฟ พร้อมด้วย นายศิริชัย มาโนช ที่ปรึกษาอาวุโสเครือซีพี นายเบญจมินทร์ เจียรวนนท์ ที่ปรึกษาโครงการคณะทำงานปฏิบัติการป่าชายเลนภาคตะวันออก (ตราด) และ มล.อนุพร เกษมสันต์ รองกงสุลกิตติมศักดิ์รัสเซีย ร่วมกับชาวชุมชน หน่วยราชการ และชาวซีพีเอฟจิตอาสาเดินหน้ากิจกรรมสร้างสรรค์สังคมและสิ่งแวดล้อม
นายวิทวัส สุวรรณ กำนันตำบลท่าพริก กล่าวว่า ความร่วมมือระหว่างซีพีเอฟและชาวชุมชนท่าพริกในครั้งนี้มีจุดเริ่มต้น จากปี 2563 เราได้ประชุมร่วมกันว่าจะมีการพัฒนาพื้นที่ป่าชายเลนของชุมชน เพราะพื้นที่ตรงนี้ส่วนใหญ่ถูกปกคลุมด้วยไม้ยืนต้น กระจายไม่หนาแน่น มีทุ่งปรงไข่ และแอ่งน้ำกระจายเป็นหย่อมๆ ลักษณะการกระจายพันธุ์เกิดจากเมล็ดไม้ที่มีอยู่ตามธรรมชาติ ไหลมาตามกระแสน้ำขึ้น น้ำลง พันธุ์ไม้เด่นในพื้นที่ คือ ตาตุ่มทะเล ฝาดดอกแดง ถั่วขาว หลุมพอทะเล เป็นต้น การอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าชายเลน ทำให้เกิดประโยชน์ทั้งในด้านการเป็นแหล่งอาหาร เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำและสัตว์วัยอ่อน เพิ่มออกซิเจนให้กับโลก นำธรรมชาติที่สมบูรณ์กลับคืนมา โดยชาวซีพีเอฟและชาวชุมชนจะร่วมมือกันปลูกไม้ชายเลนให้เต็มพื้นที่ต่อไป
ด้าน นายไพโรจน์ อภิรักษ์นุสิทธิ์ รองกรรมการผู้จัดการบริหาร ธุรกิจสัตว์น้ำ ในฐานะประธานคณะกรรมการอำนวยการยุทธศาสตร์ป่าชายเลน ซีพีเอฟ กล่าวว่า บริษัทดำเนินธุรกิจด้วยความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม มุ่งมั่นสร้างความมั่นคงทางอาหาร ภายใต้วิสัยทัศน์ “ครัวของโลก” โดยกำหนดกลยุทธ์ 3 เสาหลัก ขับเคลื่อนองค์กรสู่ความยั่งยืน คือ อาหารมั่นคง สังคมพึ่งตน และดินน้ำป่าคงอยู่ จึงให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมดูแลสมดุลระบบนิเวศ เพิ่มพื้่นที่สีเขียวให้กับประเทศไทย ดำเนินโครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าต้นน้ำและป่าชายเลน ภายใต้แนวคิด “จากภูผา สู่ป่าชายเลน” โดยซีพีเอฟดำเนินโครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าชายเลน “ปลูก ปัน ป้อง ป่าชายเลน” มาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2557 ช่วยอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าชายเลนรวม 2,388 ไร่ ปัจจุบันเข้าสู่ระยะที่สองของโครงการ และครั้งนี้มีเป้าหมายอนุรักษ์และฟื้นฟูป่ารวมมากกว่า 1,300 ไร่ นอกจากนี้ บริษัทยังได้ส่งเสริมคุณภาพชีวิตของชุมชน ในพื้นที่ที่เราเข้าไปอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าชายเลน เพื่อให้ชุมชนและป่าอยู่ร่วมกันได้อย่างยั่งยืนอีกด้วย
นอกจากกิจกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อมแล้ว คณะของผู้ว่าราชการจังหวัดตราด และคณะผู้บริหารซีพีเอฟ ยังเข้าเยี่ยมชมความสำเร็จของ วิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวบ้านธรรมชาติล่าง ตำบลคลองใหญ่ อำเภอแหลมงอบ จังหวัดตราด และ วิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยววิถีชุมชนตำบลปากน้ำประแส อำเภอแกลง จังหวัดระยอง ที่ได้รับการสนับสนุนจากซีพีเอฟ ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมของท้องถิ่น
นายชำนาญวิทย์ เตรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดตราด กล่าวว่า ความร่วมมือกันของภาครัฐ ชุมชน และภาคเอกชนอย่างซีพีเอฟทำให้ชุมชนบ้านธรรมชาติล่าง เป็นต้นแบบของการพัฒนาชุมชนร่วมกันที่ดำเนินการอย่างต่อเนื่องมาหลายปี กระทั่งเป็นที่รู้จัก โดยเฉพาะเรื่อง Eco-Print เป็นหนึ่งในกิจกรรมที่ซีพีเอฟให้การสนับสนุน ด้วยการทำผ้า 3 ป่า จากป่าภูเขา ป่าสมุนไพร และป่าชายเลน นำมาทำผ้ามัดย้อมจากวัสดุธรรมชาติ ตามเป้าหมายคือ การทำขยะให้เป็นทองคำ สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของจังหวัด ด้านบริหารจัดการและอนุรักษ์ ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม “ตราดรักษ์โลก รักษ์สิ่งแวดล้อม” ตลอดจนสนับสนุนวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวบ้านธรรมชาติล่าง การทำปุ๋ยนาโน และน้ำดื่มชุมชน ส่วนกิจกรรมปลูกป่าชายเลน ฟื้นฟูธรรมชาติ ปลูกป่าในหัวใจคน ทำให้คนตราดรักธรรมชาติเพราะจังหวัดตราดขายธรรมชาติให้นักท่องเที่ยว การพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อมชุมชนมีส่วนสำคัญยิ่ง ขณะที่องค์ความรู้ที่ได้รับจากซีพีเอฟ ช่วยสนับสนุนให้ประสบความสำเร็จ กลายเป็น Best Practice และสามารถขยายผลออกไปได้กับชุมชนอื่นๆต่อไป
นายทองหล่อ วรฉัตร ประธานวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวบ้านธรรมชาติล่าง ที่นำทีมงานมาร่วมจัดนิทรรศกาล ทั้งการผลิตปุ๋ยหมักชีวภาพนาโน กิจกรรมมัดย้อม 3 ป่า “จากฟากฟ้า สู่ภูผา และมหานที” การทำสมุนไพรลูกประคบ และศูนย์การเรียนรู้การบริหารจัดการนำขยะจากบ้านเรือนและขยะชายหาดมาสร้างประโยชน์ กล่าวว่า ความสำเร็จที่เกิดขึ้นทั้งหมดต้องขอบคุณทางซีพีเอฟ ที่ช่วยสนับสนุนทุกๆด้าน ทั้งบุคลากรที่มาให้ความรู้ร่วมกันพัฒนา งานด้านวิชาการ และด้านการตลาด ช่วยสร้างงาน สร้างอาชีพ และรายได้อย่างน่าพอใจ สมาชิกวิสาหกิจชุมชนฯ ทุกๆคนรู้สึกอบอุ่นใจเมื่อมีบริษัทเข้ามาจับมือกันเดินหน้าทำให้เห็นผลสัมฤทธิ์ที่เกิดขึ้นจริง เพราะพวกเรามีกำลังน้อยแต่เมื่อซีพีเอฟสนับสนุนก็ได้มีกำลังใจในการทำงานมากขึ้น เริ่มจากกิจกรรมแรกเรื่องการทำปุ๋ยเมื่อปี 2557 แล้วพัฒนาต่อยอดสู่กิจกรรมต่างๆ และขอขอบคุณ “สุวรรณลักษณ์ รีสอร์ท” ที่เอื้อเฟื้อสถานที่ให้เป็นที่ตั้งของวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวบ้านธรรมชาติล่าง ให้ใช้พื้นที่ในการเป็นศูนย์เรียนรู้ของนักเรียน นักศึกษา หน่วยงานราชการ ภาคเอกชน ที่เข้ามาดูงานแล้วกว่า 2,000 คน สร้างความภาคภูมิใจให้กับสมาชิกทุกคน
ทางด้าน นางดวงฤดี ขวัญนิยม ประธานวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยววิถีชุมชน ตำบลปากน้ำกระแส อำเภอแกลง จังหวัดระยอง ที่มาร่วมถ่ายทอดความสำเร็จของกลุ่มเช่นกัน กล่าวว่า จากจุดเริ่มต้นที่ซีพีเอฟเข้ามาร่วมอนุรักษ์และฟื้นฟูผืนป่าชายเลนที่ปากน้ำกระแส ร่วมกับชาวชุมชน เมื่อปลายปี 2561 เข้าไปช่วยท้องถิ่นปลูกป่าชายเลน ช่วยสนับสนุนการพัฒนา "การท่องเที่ยวโดยชุมชน" ในพื้นที่ป่าชายเลนปากน้ำประแส ที่เกิดจากชาวบ้านร่วมกันบริหารจัดการ เมื่อบริษัทเข้ามามีส่วนร่วมและช่วยต่อยอด รวมถึงช่วยทำเอกสารในการประเมินมาตรฐานของภาครัฐ รวมถึงซีพีเอฟร่วมกับ local alike เข้ามาช่วยสนับสนุนการท่องเที่ยวชุมชน เป็นโอกาสในการพัฒนาให้การท่องเที่ยวกลายเป็นรายได้เสริมให้กับชาวชุมชน นำผลิตภัณฑ์ชุมชน ทั้งน้ำปลา ชาใบขลู่ กะปิหวาน ปลากรอบ ฯลฯไปจำหน่าย โดยทุกคนที่เข้าร่วมจะหักรายได้ 10% สมทบกลุ่ม เพื่อนำไปใช้สาธารณประโยชน์ และทำถุงยังชีพ มอบให้กลุ่มเปราะบางในชุมชน คนชรา คนพิการด้วย
ทั้งหมดนี้คือส่วนหนึ่งของการเดินหน้ากิจกรรมเพื่อสังคม ที่ซีพีเอฟให้การสนับสนุนให้เกิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ที่บริษัทเข้าไปดำเนินธุรกิจ ในฐานะส่วนหนึ่งของชุมชน ขณะเดียวกันยังดำเนินการฟื้นระบบนิเวศป่าชายเลนให้กลับมาอุดมสมบูรณ์ เกิดความหลากหลายทางชีวภาพทั้งพันธุ์พืชและสัตว์น้ำ และชุมชนโดยรอบสามารถใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติที่ได้รับการฟื้นฟู ส่งเสริมให้คนในพื้นที่อยู่ร่วมกับป่าและพึ่งพาตนเอง ยกระดับเศรษฐกิจ สังคม และดูแลสิ่งแวดล้อมในพื้นที่อย่างยั่งยืน