(วันที่ 20 มิถุนายน 2565) สันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย (สสท.) จัดเสวนา หัวข้อ “ถามตรงๆกับจอมขวัญ สหกรณ์เขาทุจริตกันอย่างไร? แนวทางแก้ไขปัญหา” เนื่องในวันครบรอบวันคล้ายวันสถาปนา 54 ปี ณ ศูนย์การประชุมรัชนีแจ่มจรัส ถนนพิชัย เขตดุสิต สันนิบาต สหกรณ์ฯ เพื่อร่วมถกประเด็นทางกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการบริหารงานสหกรณ์ รวมถึงหาแนวทางป้องกันแก้ไข ปัญหาการบริหารจัดการสหกรณ์ที่เป็นช่องทางให้เกิดการทุจริตในสหกรณ์มาตรการควบคุมภายในด้านป้องกันการทุจริตและด้านตรวจสอบความเสี่ยงและสัญญาณเตือนภัยเมื่อเกิดการทุจริตในองค์กรผู้ร่วมเสวนา ประกอบด้วย นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ นายปรเมศวร์ อินทรชุมนุม ประธานกรรมการดำเนินการสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย นายไพบูลย์ แก้วเพทาย ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสหกรณ์ และนาย สิรวิชญ์ ไพศาสตร์ ที่ปรึกษาสันนิบาตสหกรณ์ฯ โดยมี นางสาวจอมขวัญ หลาวเพ็ชร ร่วมเป็นผู้ดำเนินรายการ รวมถึงคณะกรรรมการฯ สสท. ร่วมเป็นเกียรติ
นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าวว่า แม้ว่าสหกรณ์จะไม่ใช่องค์กรทุนนิยมที่แสวงหาผลกำไรแต่มีการเติบโตต่อเนื่องมียอดเงินรวมสหกรณ์ทั่วประเทศที่ 3.58 ล้านๆบาท ความเสียหายที่เกิดจากการทุจริตในสหกรณ์ปัจจุบัน ณ วันที่ 1 มิ.ย. 65 กว่า 18,000 ล้านบาท รวมสหกรณ์ได้รับความเสียหาย คงเหลือ 252 แห่ง เทียบกับสหกรณ์ทั่วประเทศไทย คิดเป็น 0.5% โดยการทุจริตมักเกิดใน 3 รูปแบบ 1.ทุจริตด้านเงินฝากเกิดจากการใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ตกแต่งตัวเลขเงินฝาก เช่นยอดเงินในสมุดฝากของสมาชิกไม่ตรงกับในระบบ การป้องกันที่ดีคือ กรรมการสหกรณ์ต้องมีระบบสอบทานเงินฝากให้กับสมาชิกรับทราบโดยตั้งกรรมการอิสระขึ้นมาตรวจสอบ 2.ทุจริตด้านเงินกู้สมาชิก การปลอมแปลงสัญญา ซึ่งสมาชิกไม่ได้กู้จริง 3.ทุจริตเชิงนโยบาย เช่น จัดทำโครงการแล้วอาศัยช่องว่าง เช่นโครงการตั๋วปุ๋ยเป็นร้อยล้านแต่ไม่มีปุ๋ยเข้ามาจริง ซึ่งภาครัฐพยายามสร้างความตระหนักรู้รวมถึงสร้างกลไกที่สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่นปรับกฎหมาย ระเบียบ ไม่เปิดโอกาสให้มีการทุจริต อย่างไรก็ตามการตรวจสอบภายในของสหกรณ์เป็นสิ่งสำคัญมากที่สุดก่อนถึงผู้สอบบัญชี อีกทั้งปัจจุบันสหกรณ์มีโปรแกรมบัญชีของเอกชนที่มีมาตรฐานหลากหลายสหกรณ์สามารถนำมาใช้ได้ ช่องว่างคือ ฝ่ายจัดการที่รู้ระบบสามารถแก้ไขตัวเลขได้หากไม่มีระบบ IT AUDIT และให้เชิญชวนสมาชิกตรวจสอบเงินตัวเองด้วยการใช้ Mobile Application
นายปรเมศวร์ อินทรชุมนุม ประธานกรรมการดำเนินการสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ระบบสหกรณ์คือธุรกิจฐานรากจะเกิดการทุจริตแม้จะเพียงแค่ครึ่งเปอร์เซ็นต์ก็ไม่ควรเกิดขึ้นภาค รัฐต้องให้ความสำคัญ หาวิธีเตือนให้สหกรณ์รู้เท่าทันโดยเฉพาะการทุจริตเชิงนโยบายเริ่มเข้ามาในขบวนการสหกรณ์ สิ่งจำเป็นสุดตอนนี้คือ กำกับที่บุคคลเน้นระบบธรรมาภิบาล สร้างอุดมการณ์สหกรณ์เพราะคนคือกลไกสำคัญซึ่งทำงานควบคู่กับระบบการสร้างธรรมาภิบาลในองค์กร ยังเป็นตัวที่ช่วยในการสร้างจิตสำนึกในการบริหารสหกรณ์ ผมมั่นใจว่าคนเก่งนั้นหาไม่ยาก แต่ที่ยากคือคนดี ฉะนั้นเราจึงจำเป็นต้องติดอาวุธทางปัญญาเพื่อลดการทุจริตในสหกรณ์ และให้ทุกคนทราบถึงระบบการเตือนภัยการทุจริต ที่เราทุกคนสามารถมีส่วนร่วมตรวจสอบได้ไม่ยาก ซึ่งสันนิบาตสหกรณ์ไม่ได้นิ่งนอนใจ จัดกิจกรรมเสวนา เนื่องในโอกาสครบรอบวันคล้ายวันสถาปนาสันนิบาตสหกรณ์ เพื่อช่วยลดการทุจริต พร้อมทั้งกล่าวว่า หากคณะกรรมการ ตลอดจนสมาชิกสหกรณ์มีความรู้อ่านงบฯได้ เข้าใจถึงสัญญาณเตือน ความผิดปกติในการบริหารจัดการสหกรณ์ ก็จะทำให้เกิดการตรวจสอบภายในสหกรณ์ที่เข้มแข็งมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ และขอยืนยันว่า สันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทยจะไม่ทิ้งสหกรณ์ไทยสหกรณ์ข้างหลัง"
นายสิรวิชญ์ ไพศาสตร์ ที่ปรึกษาสันนิบาตสหกรณ์ฯ สิ่งที่ผู้บริหารสหกรณ์ต้องทำคือ วางระบบการป้องกันระบบการค้นพบการทุจริตให้ได้ การทุจริตในสหกรณ์เกิดได้ตั้งแต่ สมาชิก ฝ่ายจัดการ ฝ่ายบริหาร ส่วนการทุจริตเชิงนโยบายสามารถป้องกันได้ เช่นการไม่ให้กรรมการที่มีส่วนได้เสียพิจารณาและระบบ สหกรณ์ขาด ระบบ IT AUDIT หรือที่เรียกว่าการตรวจสอบการควบคุมการจัดการภายในหรือการตรวจสอบข้อมูลระบบ และตั้งข้อสังเกต ว่า ระบบการจ่ายค่าตอบแทนในสหกรณ์ค่อนข้างต่ำอาจจะเป็นเหตุให้เกิดการทุจริตการพิจารณาค่าตอบแทนจึงควรเป็นไปอย่างเหมาะสม และระบบผู้ตรวจสอบในสหกรณ์ ถูกคัดเลือกจากคณะกรรมการในเบื้องต้น ผู้ตรวจสอบอาจจะไม่มีความอิสระพอทางความคิดและเกิดระบบความเกรงใจ ไม่สร้างผู้ตรวจสอบระดับมืออาชีพ
นายไพบูลย์ แก้วเพทาย ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสหกรณ์ กล่าวว่า คน ,ระบบ ,การกำกับตรวจสอบ คือ 3 องค์ประกอบการทุจริต จึงควรต้องมีระบบที่ดี 3 ระบบ 1.ธรรมาภิบาล 2.การบริหารความเสี่ยง 3.ระบบการตรวจสอบภายใน เช่น สหกรณ์ต้องมี ระบบ Check and Balance หรือระบบตรวจสอบตรวจทาน เช่น Mobile App สามารถตรวจได้ว่าเงินในสมุดคู่ฝากตรงกับในระบบ วางระบบให้สมาชิกตรวจสอบได้
ดังนั้นการจัดเสวนาทางวิชาการ เรื่องถามตรงๆกับจอมขวัญสหกรณ์เขาทุจริตกันอย่างไรฯ จึงเป็นการนำเนื้อหาสาระและข้อสรุปของการหาแนวทางร่วมกันในการแก้ไขปัญหา ทั้งภาครัฐ สันนิบาตสหกรณ์ฯ และขบวนการสหกรณ์ ที่ต้องจับมือต้านทุจริต ส่งเสริมคนดี และสร้างความเป็นธรรมให้สมาชิกสหกรณ์ เพื่อสร้างความอยู่ดีกินดีให้แก่ประชาชนทั้งประเทศต่อไป