วันที่ 17 พฤษภาคม 2565 ทีมวิจัยโรงเรียนนายร้อยตำรวจ จัด “การประชุมเผยแพร่ผลการวิจัยโครงการพัฒนาระบบเครือข่ายอาชีพรองรับการกลับคืนสู่สังคมของเด็กและเยาวชนที่เคยกระทำผิดเกี่ยวกับยาเสพติด” พร้อมกับจัดกิจกรรมแสดงเจตจำนงร่วมกันระหว่างกรมพินิจฯ ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาชน จำนวน 6 แห่ง และภาคีเครือข่ายสถานประกอบการ จำนวน 16 แห่ง ในการบูรณาการความร่วมมือร่วมใจ เพื่อส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนที่อยู่ระหว่างโปรแกรมการเตรียมความพร้อมก่อนปล่อย ได้พัฒนาทักษะทางวิชาชีพที่ตรงตามความต้องการของตลาดแรงงานจากผู้ประกอบการมืออาชีพ มีโอกาสในการฝึกประสบการณ์วิชาชีพ รวมถึงการเพิ่มโอกาสในการมีงานทำ มีอาชีพ และมีรายได้ที่เหมาะสมเมื่อได้รับการปล่อยตัวกลับคืนสู่สังคม โดยมีศาสตราจารย์ พลตำรวจตรีหญิง ดร.พัชรา สินลอยมา ผู้บริหารจัดการโครงการ พันตำรวจตรี ดร.ปริญญา สีลานันท์ หัวหน้โครงการในการศึกษาวิจัย และผู้แทนภาคีเครือข่าย เข้าร่วมงาน ณ โรงแรม เอสดี อเวนิว ปิ่นเกล้า และผ่านระบบออนไลน์ (Zoom meeting)
พันตำรวจตรี ดร.ปริญญา สีลานันท์ หัวหน้าโครงการในการศึกษาวิจัย เปิดเผยว่า จากการศึกษาวิจัยในครั้งนี้ พบว่า ปัญหาที่เยาวชนที่กระทำผิดกฎหมาย ที่มีการกระทำผิดซ้ำอีกมีแนวโน้มมากขึ้น จากการตรวจสอบข้อมูลพบว่าผู้กระทำผิด มีการกระทำผิดซ้ำอีกมากกว่าร้อยละ 40 ของผู้ที่เข้าสถานพินิจ และพบว่าเป็นคดียาเสพติดที่กระทำผิดซ้ำกว่าร้อยละ 27 นอกจากนั้นเป็นคดีอื่นๆ ร้อยละ 13 ของผู้กระทำผิดซ้ำ ที่น่าห่วงคือเด็กที่เข้าไปอยู่ในสถานพินิจออกมาแล้วไม่มีงานทำ และไม่มีเงินในการดูแลตนเอง จึงหวนกลับไปกระทำผิดซ้ำ
ทางทีมวิจัยโรงเรียนนายร้อยตำรวจ โดยการสนับสนุนของสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) จึงได้จัดทำโครงการวิจัยการพัฒนาระบบเครือข่ายอาชีพรองรับการกลับคืนสู่สังคมของเด็กและเยาวชนที่เคยกระทำผิดเกี่ยวกับยาเสพติด” ที่จะเป็นแกนกลางในการเชื่อมโยงระหว่างสถานพินิจกับผู้ประกอบการในการหาแหล่งงาน ให้กับเยาวชนที่กำลังจะออกมาสู่สังคมได้มีโอกาสทำงานเพื่อเลี้ยงชีพได้อย่างมั่นคง โดยจะสานงานในการฝึกอบรมอาชีพให้กับเยาวชนที่หลงผิด ให้เข้าไปฝึกอบรมอาชีพตามความถนัดของเด็กและเยาวชนได้มีอาชีพติดตัวไปทำงาน หลังจากพ้นโทษ โดยมีพี่เลี้ยง ทีมฝึกอบรมแนะนำอาชีพ ซึ่งจะมีอาชีพช่างต่างๆ อาชีพอิสระ โดยเฉพาะอาชีพขายของออนไลน์ที่กำลังได้รับความนิยมในตลาดขณะนี้ โดยจะมีทีมฝึกอบรมแนะนำ เชื่อว่าหากเด็กมีอาชีพที่มั่นคงจะไม่หวนไปกระทำผิดซ้ำอีก ถือเป็นการให้โอกาสกับเด็กและเยาวชนที่หลงผิดกลับมาเป็นคนดีในสังคม
นอกจากนี้ ยังจะประสานเป็นตัวกลางในการในการเจรจากับผู้ประกอบการที่ต้องการแรงงานเฉพาะด้าน โดยเฉพาะช่างต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นช่างยนต์ ช่างเขื่อม ช่างกลโรงงาน ตามความต้องการของผู้ประกอบการในโรงงานต่างๆ เพื่อเปิดโอกาสให้กับเด็กและเยาวชน ได้เข้าไปมีโอกาสทำงานมากขึ้น กว่าที่เป็นอยู่ จากการเจรจากับทางผู้ประกอบการเจ้าของโรงงานมีความพร้อมที่จะให้โอกาส ขอแค่ให้เป็นคนที่ขยันและซื่อสัตย์และรับผิดชอบต่อหน้าที่เท่านั้น ผู้ประกอบการพร้อมจะเปิดโอกาสให้กับผู้หลงผิดได้กลับมาเป็นคนดีจำนวนมาก และเป็นไปในทิศทางที่ดีมากขึ้น ทางทีมวิจัย จะส่งมอบข้อมูลส่งต่อไปยังกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน เพื่อเตรียมพร้อมในการพัฒนาอาชีพเด็กและเยาวชน เพื่อส่งต่อสู่สังคมต่อไป
นอกจากนั้นทีมวิจัยยังมีการเตรียมพร้อมที่จะสนับสนุนข้อมูลในการที่จะสร้างแอปพลิเคชั่น “เทคโนโลยีอัจฉริยะยุติธรรม” เข้ามาใช้ โดยมีการเขื่อมโยงด้านข้อมูล โดยกรมพินิจฯจะเป็นหน่วยงานหลักในการจัดทำ ข้อมูลจะประกอบด้วยรายละเอียดของเยาวชนที่ผ่านการฝึกอบรมด้านอาขีพ ตามความต้องการ ของผู้ประกอบการ เจ้าของกิจการสามารถเลือกแรงงานให้เป็นไปตามความต้องการของแต่ละแห่ง โดยเด็กและเยาวชนที่ผ่านการฝึกอบรม นอกจากจะมีความเชี่ยวชาญงานตามแนวถนัด ยังจะต้องผ่านการตรวจสอบด้านพฤติกรรมที่สามารถทำงานร่วมกับสังคมได้อย่างปกติด้วย ซึ่งจะเป็นการสร้างความเขื่อมั่นให้กับผู้ประกอบการด้วย
ด้านศาสตราจารย์ พลตำรวจตรีหญิง ดร.พัชรา สินลอยมา ผู้บริหารจัดการโครงการ กล่าวว่าปัญหาเด็กและเยาวชนที่กระทำผิดในขณะนี้ถือว่าเป็นปัญหาใหญ่ที่กระทบต่อปัญหาสังคม และปัญหาด้านเศรษฐกิจโดยรวมทั้งระบบ เพราะเด็กและเยาวชนเหล่านี้กำลังก้าวเข้าสู่วัยผู้ใหญ่จึงต้องเร่งแก้ปัญหา ที่กำลังจะส่อเค้ารุนแรงมากขึ้น ทางทีมงานจึงเสนอแผนงานเพื่อทำการวิจัยและแก้ปัญาต่อสำนักงานการวิจัยแห่งชาติทำการวิจัยและหาทางออกกับปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นและปัองกับไปให้เด็ก และเยาวชนกลับมาสู่วังวลเดิม
ปัญหาใหญ่มากที่สุดสู่การกระทำผิดคือเด็กขาดแคลนเงิน จึงพยายามที่จะหาเงินและหาเงินในทางที่ผิด โดยเข้าไปอยู่ในขบวนการค้ายาเสพติด เพราะหาเงินง่าย แนวทางในการแก้ปัญหาคือต้องสร้างโอกาสให้กับเด็กและเยาวชนที่หลงผิดโดยจะฝึกอบรมและสร้างอาชีพและให้คำแนะนำ ตามความต้องการของแต่ละคน โดยจะประสานงานกับกรมพินิจฯ เพื่อฝึกอาชีพและเตรียมความพร้อมของแต่ละคนซึ่งเด็กส่วนใหญ่จะมีความถนัดที่หลากหลาย ทั้งอาชีพช่าง อาชีพอิสระด้านต่างๆ โดยเฉพาะอาชีพขายของทางออนไลน์ ก็จะมีนักขายที่มีความชำนาญมาฝึกอบรมเทคนิคการขายให้ ส่วนอื่นๆทางกรมพินิจฯจะมีพี่เลี้ยงคอยแนะนำอาชีพและฝึกอบรมให้ก่อนที่จะออกมาสู่สังคมด้วย
ด้านนางสาว นาฑีรัตน์ บุญรัตน์ ตัวแทนจากบริษัท ฟู้ดแพชชั่น จำกัด กล่าวว่า ทางกลุ่มบริษัทของที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับอาหารและโรงแรม โดยเป็นเจ้า บาร์บิคิว พลาซ่า พร้อมที่จะให้โอกาส กับเด็กและเยาวชนที่หลงผิดกลับมาเป็นคนดีในสังคมและเชื่อในวงจรความสุข บริษัทพร้อมที่จะให้ทุนการศึกษาและให้อาชีพกับเยาวชนที่กลับใจเป็นคนดีและพร้อมที่จะสู่สังคมเสมอ ซึ่งที่ผ่านมาทางบริษัทมีการจัดฝึกอบรมและให้ทุนการศึกษากับผู้ด้อยโอกาสทางสังคม โดยเฉพาะชาวเขา ให้ทุนการศึกษาในระดับ ปวช. โดยไม่ต้องทำงานเพื่อทดแทนทุนการศึกษาแต่อย่างใด และหากเรียนจบ และไม่ประสงค์จะทำงาน ก็ไม่ต้องชดใช้เพียงแต่ขอให้นำความรู้ไปใช้สร้างรายได้ก็พอ ขณะนี้ฝึกเด็กไปแล้วไม่ต่ำกว่า 300 คน มีทั้งช่าง และธุรกิจด้านการค้า เป็นหลักเพื่อให้เด็กรู้หลักการคิด เพื่อสร้างรายได้อย่างมั่นคงยั่งยืน เพื่อไม่ให้หลงผิด
“เราพร้อมให้โอกาสเด็กและเยาวชนที่หลงผิดเพื่อกลับเข้าสู่สังคมที่ดี เราจะช่วยเหลือเขาให้มีโอกาสเข้ามาเป็นคนดีในสังคม เราจะส่งเสริมเด็กที่สนใจและฝึกอบรมตามความชอบของเด็กเป็นหลัก โดยหลักเกณฑ์เบื้องต้นจะต้องผ่านระดับการศึกษา ม.3 เพื่อเรียนในระดับปวช.ด้านอาชีพ เราไม่เช็นสัญญาใช้ทุน แต่ขอให้เรียนให้จบ กลับไปเป็นคนดีของสังคม เราก็ยินดีสนับสนุน โดยจะเริ่มปีนี้เป็นปีแรก” นางสาวนาฑีรัตน์ กล่าว